“ข้าว”...“มันสำปะหลัง” ... “ทุเรียน” คือสินค้าที่โดดเด่น ราคาดี ครึ่งปีหลัง ข้อมูลยืนยันจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ลงลึกในรายละเอียด “ข้าวนาปี” ปีการผลิต 2561/62 คาดการณ์พื้นที่เพาะปลูกอยู่ที่ 58.98 ล้านไร่ ผลผลิต 26.10 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 443 กิโลกรัม...เพิ่มขึ้นจากปีการผลิต 2560/61 ที่มีพื้นที่เพาะปลูก 58.96 ล้านไร่ ผลผลิต 24.07 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 408 กิโลกรัม

เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.03 ร้อยละ 8.43 และร้อยละ 8.58 ตามลำดับ

พืชดาวเด่นแรกนี้เป็นผลมาจากราคาข้าวหอมมะลิที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกในที่นาที่เคยปล่อยว่างเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีการปรับเปลี่ยนจากที่นาที่เคยปลูกข้าวเหนียวมาปลูกข้าวหอมมะลิแทนจากที่ราคาข้าวเหนียวในปีที่แล้วมีแนวโน้มลดลง แต่ภาพรวมเนื้อที่ปลูกข้าวยังเพิ่มไม่มากนัก

จังหวัดแหล่งผลิตข้าวนาปีสำคัญ ได้แก่ อุบลราชธานี ร้อยละ 6.59 นครราชสีมา ร้อยละ 5.76 สุรินทร์ ร้อยละ 5.21 ร้อยเอ็ด ร้อยละ 5.18 และศรีสะเกษ ร้อยละ 5.06 ของเนื้อที่ปลูกข้าวนาปีทั้งประเทศ

...

ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมาก ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 คิดเป็นร้อยละ 64.81 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งประเทศ ส่วน “ข้าวนาปรัง” ปีการผลิต 2561 มีพื้นที่เพาะปลูก 12.84 ล้านไร่ ผลผลิต 8.55 ล้านตันข้าวเปลือกและผลผลิตต่อไร่ 666 กิโลกรัม เทียบกับปีการผลิต 2560 ที่มีพื้นที่เพาะปลูก 10.46 ล้านไร่ ผลผลิต 6.62 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 633 กิโลกรัม...เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.75 ร้อยละ 29.15 และร้อยละ 5.21 ตามลำดับ

เนื่องจากอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี...ดีมาก รวมทั้งแหล่งน้ำตามธรรมชาติเมื่อต้นฤดูกาลมีปริมาณน้ำมากกว่าปีที่ผ่านมา อีกทั้งเกษตรกรบางส่วนก็ได้ปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม

จังหวัดแหล่งผลิตข้าวนาปรังสำคัญ ได้แก่ สุพรรณบุรี ร้อยละ 7.80 นครสวรรค์ ร้อยละ 7.40 พระนครศรีอยุธยา ร้อยละ 6.40 พิษณุโลก ร้อยละ 5.99 และพิจิตร ร้อยละ 5.75 ของเนื้อที่ปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ

ผลผลิตข้าวนาปรังจะออกสู่ตลาดมาก ช่วงเดือนมีนาคม– เมษายน 2561 คิดเป็นร้อยละ 58.19 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งประเทศ

ฉายไฟส่องไปที่เรื่อง “ราคา” ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 ด้วยผลผลิตที่มีน้อยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่ขายได้จึงเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 14,934 บาท สูงขึ้นจากตันละ 9,231 บาท...ในช่วงเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 61.78

สำหรับราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยตันละ 7,814 บาท สูงขึ้นจากตันละ 7,627 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 2.45 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

คาดว่า...แนวโน้มราคาข้าวในช่วงครึ่งปีหลังปี 2561 จะอยู่ในเกณฑ์ดี ใกล้เคียงกับช่วงครึ่งปีแรก

กระนั้นเกษตรกรชาวนาไทยก็อย่าได้นิ่งนอนใจ ควรเฝ้าระวังราคาข้าวในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2561 ช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปี ปี 2561/62 ทยอยออกสู่ตลาดมากเช่นเดียวกัน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และ ธ.ก.ส. ได้ร่วมด้วยช่วยกันแก้ไข บริหารจัดการสินค้าข้าว ทำมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ได้แก่ มาตรการด้านการผลิต ดำเนินงานโดยกรมการข้าวมี 7 โครงการ คือ...นาแปลงใหญ่, การผลิตข้าวอินทรีย์, พัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง, ระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง, โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ

โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร และโครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง...

ด้านการตลาดมี 3 โครงการ...สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว (ธ.ก.ส), สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.) และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก (กรมการค้าภายใน)...ผลสัมฤทธิ์อย่างไรชวนให้ติดตาม

ถัดมา “มันสำปะหลัง”...อีกหนึ่งดาวเด่นในวันนี้ เพราะที่ผ่านมาราคาที่เกษตรกรขายได้ตกต่ำอย่างต่อเนื่องทำให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงบางพื้นที่ก็ปล่อยเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ส่งผลให้พื้นที่เก็บเกี่ยวลดลง ราคาจึงสูงขึ้น เกษตรกรจึงขายมันได้...มีราคาดี

แล้วก็มาถึงดาวเด่นดวงสุดท้ายฮีโร่ในยุคนี้ นั่นก็คือ “ทุเรียน” ...ปี 2561 คาดว่ามีผลผลิต 0.727 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 0.635 ล้านตัน ในปี 2560 ร้อยละ 14.49 เนื่องจากทุเรียนที่ปลูกในปี 2556 เริ่มให้ผลผลิต เป็นปีแรก ประกอบกับสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกดอกและติดผล รวมทั้งราคาอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องมาหลายปี

เกษตรกรจึงดูแลบำรุงรักษาสวนทุเรียนอย่างดี ทำให้ปริมาณผลผลิต เพิ่มขึ้น

มองในเรื่อง “ราคา” ทุเรียนหมอนทองเกรดคละเฉลี่ยครึ่งปีแรก ม.ค.-มิ.ย.2561 อยู่ที่กิโลกรัมละ 83.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 92.11 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 9.35 เนื่องจากในครึ่งปีแรก ปีนี้มีปริมาณทุเรียนที่ออกสู่ตลาดมากกว่าครึ่งปีแรกในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

กระนั้นราคาก็ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ว่าจะปรับลดลงจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย คาดว่าในครึ่งปีหลังจะปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากมาตรการส่งเสริมการบริโภคภาครัฐ ช่วยกระตุ้นความนิยมในการบริโภคทุเรียนเพิ่มขึ้น...บวกกับผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐานการส่งออก ขายได้ราคาสูง

เอาเป็นว่าวันนี้ความต้องการ “ทุเรียน” ของตลาดทั้งภายใน และนอกประเทศยังสดใส มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกระแสนิยมการบริโภคทุเรียนของชาวจีนที่มีเพิ่มมากขึ้นอีกไม่ใช่น้อยๆ

ยิ่งมีความสะดวกรวดเร็วในการขนส่ง ความหลากหลายของช่องทาง การส่งออก การจัดจำหน่ายก็ยิ่งสามารถขยายการส่งออกไปยังมณฑลต่างๆ ของจีนได้มากขึ้น

เหรียญมีสองด้าน เกษตรกรไทยก็มีสองด้านเฉกเช่นเดียวกัน...มี “ได้” ก็ย่อมมี “เสีย” มี...“ขึ้น” ก็ย่อมมี “ลง”...ตามหลักการตลาดดีมานด์ซัพพลาย โดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตรในช่วงครึ่งปีหลังให้ขีดวงไปที่สินค้าที่ต้องเฝ้าระวัง “ราคาตก” ก็จะมี...ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา สับปะรด มังคุด ลองกอง ลำไย

นับเป็นความท้าทายในระดับนโยบายที่จะต้องคลี่คลายแก้ปัญหากันไป ทั้งในระยะสั้น ระยะยาวอย่างมีแบบแผน “ชี้นำในการพัฒนา...จัดทำยุทธศาสตร์เกษตรของประเทศ ไปสู่การบริหารจัดการ”...คือพันธกิจ สำคัญของ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก.

วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาฯ สศก. ย้ำว่า เรามุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจอย่างรอบด้าน ทั้งการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย แผนพัฒนาการเกษตร มาตรการทางการเกษตร การสำรวจ ศึกษา...วิเคราะห์ข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตรในทุกมิติ ทั้งสถานการณ์การผลิต การพยากรณ์ผลผลิต ต้นทุน ราคา...รายได้เกษตรกร

ภาพใหญ่...ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 6.2 สาขาพืช สาขาปศุสัตว์, ประมง, บริการทางการเกษตร และป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น มาจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต ปริมาณน้ำที่เพียงพอ...มีการพัฒนาแหล่งน้ำ ระบบการกระจายน้ำ อย่างมีประสิทธิภาพ บวกกับนโยบายที่สำคัญ

รวมๆแล้วในปี 2561 คาดการณ์ว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0-4.0 ในทุกสาขาการผลิต

จับยามสามตา “เกษตรกรไทยยุค 4.0” ต้องก้าวไปข้างหน้าด้วยข้อมูลและการบริหารจัดการที่รัดกุม เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน.