นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ขยะอันตรายจากบ้านเรือนและชุมชน ซึ่งเป็นของเสียของเหลือใช้ที่เสื่อมสภาพและภาชนะบรรจุจากผลิตภัณฑ์ที่มีหรือปนเปื้อนด้วยสารอันตรายประเภทต่างๆ ทั้ง
สารพิษ สารกัดกร่อน สารไวไฟ เป็นต้น ปริมาณของเสียอันตรายจากชุมชนประมาณ 618,749 ตัน เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 65 ของเสียอันตรายจากชุมชนประเภทอื่นๆร้อยละ 35 โดยแต่ละคนก่อให้เกิดของเสียอันตราย 7.1 กิโลกรัมต่อคนต่อปี โดย กทม.มีปริมาณของเสียอันตรายประมาณ 29 ตันต่อวัน ของเสียที่เกิดขึ้นถูกทิ้งปะปนไปกับขยะมูลฝอยทั่วไป ทำให้เกิดปัญหากับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
อธิบดี คพ.กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา คพ.ได้แยกทิ้งขยะอันตรายร่วมกับศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น เพื่อเพิ่มช่องทางอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในพื้นที่ กทม.สามารถแยกทิ้งของเสียอันตรายจากชุมชน 5 ประเภท ได้แก่ แบตเตอรี่มือถือ ซากโทรศัพท์มือถือ ถ่านไฟฉาย หลอดฟลูออเรสเซนต์ ภาชนะปนเปื้อนที่เป็นอันตราย อาทิ กระป๋องสเปรย์ สามารถนำไปทิ้งได้ที่จุดทิ้งของเสียอันตราย เพื่อให้ กทม.เก็บรวบรวมนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง โดยมีจุดรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชนใน กทม. เพิ่มขึ้นจำนวน 3,815 แห่ง ผู้ที่ประสงค์จะทิ้งขยะอันตรายสามารถนำไปทิ้งได้ ณ จุดทิ้งของเสียอันตรายที่กำหนดและจุดที่มีสัญลักษณ์โครงการ สามารถเข้าไปตรวจสอบจุดทิ้งขยะอันตรายได้ที่คิวอาร์โค้ด และ http://infofile.pcd.go.th/haz/Drop_Off.pdf?CFID=1236633&CFTOKEN=83992309