ที่ลานหน้าจัตุรัสวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมแถลงข่าวการสำรวจขั้วโลกเหนือครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ เปิดเผยว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นคนไทยพระองค์แรกที่เสด็จเยือนขั้วโลกใต้ ปี 2556 หลังจากนั้นมีพระราชดำริให้ส่งนักวิจัยไปสำรวจขั้วโลกใต้ทุกปี ปัจจุบันมีนักวิจัยไทยไปสำรวจขั้วโลกใต้แล้ว 8 คน สำหรับปี 2561 ได้ขยายความร่วมมือกับประเทศนอร์เวย์ ส่งทีมนักวิจัยไปสำรวจขั้วโลกเหนือ จำนวน 13 คน นำทีมโดย รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และ รศ.ดร.สุชนา ชวนิตย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะ วิทย์ จุฬาฯ ซึ่งทั้ง 2 คน เคยเป็นนักวิจัยที่สำรวจขั้วโลกใต้มาแล้ว การสำรวจขั้วโลกเหนือจะสำรวจระหว่างวันที่ 24 ก.ค.-12 ส.ค.นี้ ที่หมู่เกาะสวาลบาร์ด มหาสมุทรอาร์กติก

รศ.ดร.วรณพกล่าวว่า ทีมนักวิจัยจะไปสำรวจสภาพความเปลี่ยนแปลงของขั้วโลกเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กลายเป็นภาชนะรองรับของเสียของโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน ขยะทะเล ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการวิจัยขั้วโลกใต้

ด้าน รศ.ดร.สุชนากล่าวว่า ทีมวิจัยมีความพร้อมทั้งสภาพร่างกายและ จิตใจ ทั้งได้รับการสนับสนุนชุดป้องกันความเย็นที่เรียกว่าชุดแห้ง พร้อมทีมสนับสนุน ทั้งนี้ สิ่งที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการส่งทีมไปสำรวจคือ แสดงให้ทั่วโลกเห็นว่าประเทศไทยตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนและขยะทะเล และ พร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายที่จะแก้ไขปัญหานี้ ทั้งนี้ งานวิจัยของเราคงไม่สามารถตอบ ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด แต่จะเป็นจิ๊กซอว์หนึ่งที่จะไปเติมเต็มภาพใหญ่ว่าโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด และนำข้อมูลกลับมาเตรียมพร้อมรับมือ.

...