เมื่อไทยมีการกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายไขมันทรานส์ จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน เพราะเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด จะมีผลบังคับใช้ในเดือนม.ค.ปี 62
ได้ทำอะไรสังคมเกิดความตื่นตระหนก ลังเลในเรื่องอาหารการกิน เพราะหลายๆ คน ยังไม่เข้าใจ และเกิดข้อสงสัยว่าแท้จริงแล้วไขมันทรานส์คืออะไร? และสาเหตุใด? ก่อให้เกิดความผิดปกติกับร่างกาย
อ.สง่า ดามาพงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ไขมันทรานส์ คือไขมันที่เอาน้ำมันพืชที่เป็นของเหลว ประเภทที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น น้ำมันถั่วเหลือง เติมแก๊สไฮโดรเจนลงไป เรียกว่าไฮโดรจิเนชั่น เพื่อให้น้ำมันที่มีสถานะเป็นของเหลว กลายเป็นกึ่งแข็งกึ่งเหลว ซึ่งทำให้เก็บไว้ได้นาน ไม่เหม็นหืน ทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องแล้วไม่ละลาย
เพราะฉะนั้นจึงต่างจากเนยที่มาจากสัตว์ จะละลายเมื่ออยู่ในอุณหภูมิห้อง เมื่อเติมไฮโดรเจนลงไปในน้ำมันพืช จะกลายเป็นเนยแข็ง เนยขาว เนยเทียม และมาการีน ซึ่งไม่ละลายในอุณหภูมิห้อง นำไปประกอบอาหารจะทำให้มีรสชาติดี หอม อร่อย กรอบ เหมือนเนยจากสัตว์ และมีราคาถูก ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ไขมันทรานส์ จึงมีการใช้อย่างแพร่หลายในเชิงอุตสาหกรรม แต่เป็นอันตรายสำหรับผู้บริโภค
"ไขมันทรานส์ถูกคิดค้นขึ้นมาเมื่อประมาณ 50-60 ปีมาแล้ว หลังจากนั้นมนุษย์เริ่มเจอปัญหาจากโรคหัวใจหลอดเลือด มะเร็ง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง จึงมีการหาสาเหตุว่าทำไมเราจึงเจ็บป่วยมากขึ้นในระยะหลังๆ แล้วพบว่าไขมันทรานส์เป็นต้นเหตุ ทำให้มนุษย์เจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง”
ส่วนสาเหตุที่ไขมันทรานส์ทำให้เกิดโรคเหล่านี้ เนื่องจากเมื่อเราบริโภคไขมันทรานส์เข้าไป จะทำให้เพิ่มไขมันเลว (LDL) และนอกจากนี้ยังลดไขมันดี (HDL) อีกด้วย ซึ่งไขมันเลวคือสิ่งที่ร่างกายไม่ต้องการ และไขมันดีซึ่งเป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการลดลงไป จึงทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ กลายเป็นโรคไขมันในเลือดสูง เส้นเลือดหัวใจตีบ อัมพาต อัมพฤกษ์ และความดันตามมา
...
ดังนั้น ทั่วโลกจึงมุ่งที่จะกำจัดไขมันทรานส์ภายในประเทศของตน ประเทศกลุ่มแรกคือ อเมริกา และยุโรป ซึ่งในอเมริกาได้มีการผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2559 โดยกำหนดว่าภายใน 3 ปี จะต้องปลอดไขมันทรานส์ ซึ่งครบกำหนดดังกล่าวเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
สำหรับ ประเทศไทยถือว่าไม่ช้าเกินไปในการกำจัดไขมันทรานส์ การออกกฎหมายห้ามนำเข้า ห้ามผลิตและจำหน่าย เพื่อป้องกันประชาชนจากการได้รับไขมันทรานส์ หากว่าไม่ทำเช่นนี้ไขมันทรานส์จากประเทศอื่น ที่มีการสั่งห้ามแล้วจะถูกนำเข้ามาขายในประเทศไทย
กินอยู่เป็น ไม่ให้เกิดโรค ไขมันเรื่องใกล้ตัวต้องรู้
ทั้งนี้ ไขมันทรานส์เข้าไปอยู่ในกลุ่มของอาหารที่นำเนยเทียม มาการีน เนยขาว และวิปครีม ไปใช้ในการประกอบอาหาร เช่นการนำมาการีนมาทอดไก่ จึงทำให้ไก่มีไขมันทรานส์ ส่วนอาหารอื่นๆ เช่น ขนมปัง คุกกี้ พาย นักเก็ต แฮมเบอร์เกอร์ มันฝรั่งทอด
“อย่าไปกลัวไขมันทรานส์อย่างเดียว เพราะในโลกนี้มีไขมันถึง 4 ชนิด ไขมันอิ่มตัว ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน และไขมันทรานส์”
ไขมันอิ่มตัว คือไขมันที่มาจากสัตว์ น้ำมันปาล์ม กะทิ น้ำมันมะพร้าว ซึ่งจะเพิ่มคอเลสเตอรอล สามารถบริโภคได้ในปริมาณที่พอดี ส่วนไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว เป็นไขมันที่ดี เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า น้ำมันถั่วลิสง ซึ่งไขมันในกลุ่มนี้จะสามารถลดไขมันเลว สำหรับไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน คือไขมันที่เพิ่มไขมันเลว แต่ไม่ลดไขมันดี เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันเมล็ดข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย และน้ำมันงา
พร้อมย้ำ 3 สิ่งที่ต้องระวังคือ ไม่กินไขมันทรานส์ ไม่กินไขมันอิ่มตัวมากเกินไป และไม่กินไขมันในปริมาณที่มากเกินไป มนุษย์ก็จะปลอดโรคเบาหวาน ความดัน หัวใจ หลอดเลือดได้
สำหรับการรับประทานไขมันที่ถูกต้องคือการบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ หากจะทอดให้เลือกใช้น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันหมูสำหรับทอด ในการผัดให้เลือกใช้น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน ปริมาณน้ำมันไม่ควรบริโภคเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน แต่ไขมันคือสิ่งที่มีประโยชน์ ทำให้ร่างกายอบอุ่น และสามารถนำไปใช้ในการละลายวิตามิน และแร่ธาตุบางชนิดได้ หากไม่บริโภคไขมัน เราก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ สามารถบริโภคไขมันได้ในปริมาณที่พอดี
ด้านสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ได้เปิดเผยว่า ไขมันทรานส์ จะพบได้ในอาหารประเภท เบเกอรี่ ขนมปัง และโดนัท ที่ใช้มาการีน หรือเนยเทียม เป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร ซึ่งหากบริโภคมากเกินไป จะส่งผลให้เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และทำให้ไขมันดีในร่างกายลดลง ไขมันไม่ดีเพิ่มขึ้น โดยทั่วไปหากบริโภคอาหารประเภทนี้มาก อาจจะเกิดโรคอ้วนตามมาอีกด้วย
ทางสำนักโภชนาการฯ ยังให้คำแนะนำว่า ไม่ควรบริโภคไขมันทรานส์ เกินวันละ 2 กรัม และควรหลีกเลี่ยง หรืองดอาหารที่ใช้เนยเทียมเป็นวัตถุดิบ และงดการใช้เนยเทียมในการประกอบอาหาร ทั้งบริโภคเอง และเพื่อการจัดจำหน่าย เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเองและผู้อื่น.