กั๊กที่นั่ง–ลดเหลื่อมล้ำ

ค่าใช้จ่ายสูง–ลดวิ่งรอกสอบ

ยืนยันสิทธิ สละสิทธิ–ให้โอกาส

2 มุมที่มองต่างกันของผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง โรงเรียน คณะ/มหาวิทยาลัย ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ต่อระบบทีแคส ปีการศึกษา 2561 หรือระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง

ทีมการศึกษา ขอทำหน้าที่สรุปที่มาของการปรับปรุงระบบการสอบคัดเลือกที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนภาพที่มาของระบบทีแคสให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น

สืบเนื่องจากเสียงเรียกร้องของนักเรียน ผู้ปกครอง มาหลายปี ถึงปัญหาการต้องวิ่งรอกสอบตรงหลายแห่ง มีค่าใช้จ่ายมาก ทั้งค่าสมัคร ค่าที่พัก ค่าเดินทาง เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะเด็กที่มีฐานะดีก็วิ่งรอกสอบได้หลายแห่ง ขณะเดียวกันก็พบปัญหาการกั๊กที่นั่งเรียน ซึ่งบางปีมีผู้เก็บสิทธิ์ที่นั่งเรียนไว้กับตัวมากกว่า 10 แห่ง เป็นระยะเวลาหลายเดือน กว่าจะตัดสินใจเลือกที่เรียน ส่วนกระบวนการรับสมัครและสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะเริ่มตั้งแต่เด็กยังเรียนไม่จบ ม.6 และเมื่อเด็กมีที่เรียนแล้วก็จะเลิกสนใจการเรียน ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน

...

เสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาการวิ่งรอกสอบดังขึ้นเรื่อยๆทุกปี ขณะที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และมีความพยายามที่จะพัฒนาระบบการคัดเลือก จนในที่สุด ทปอ.ได้ประกาศใช้ระบบการสอบคัดเลือกที่เรียกว่า ระบบทีแคส โดยเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2561

หลักการของระบบทีแคส คือ ให้นักเรียนอยู่ในห้องเรียนจนจบหลักสูตรชั้น ม.6 ผู้สมัครแต่ละคนมีเพียง 1 สิทธิ์ในการตอบรับในสาขาวิชาที่เลือก เพื่อความเสมอภาค และมีการบริหารสิทธิ์ของแต่ละคน โดยใช้ระบบเคลียริงเฮ้าส์ โดยกำหนดให้มีการสมัคร 5 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1 รอบแฟ้มสะสมผลงาน, รอบที่ 2 รอบโควตา, รอบที่ 3 รอบรับตรงร่วมกัน, รอบที่ 4 รอบแอดมิชชันกลาง และรอบที่ 5 รอบรับตรงอิสระ

โดยผู้สมัครทุกคนจะมีคนละ 1 สิทธิเท่าเทียมกัน หากสอบได้และยืนยันสิทธิรอบใดแล้ว ชื่อจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการเคลียริงเฮาส์ ซึ่งจะไม่มีสิทธิสมัครเข้าสู่รอบต่อไป แต่หากเปลี่ยนใจต้องการสมัครในรอบต่อไป ก็ต้องสละสิทธิภายในเวลาที่กำหนด จึงจะสามารถสมัครในรอบต่อไปได้

ผศ.ดร.ประเสริฐ
ผศ.ดร.ประเสริฐ

ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ เลขาธิการ ทปอ. กล่าวถึงระบบทีแคสว่า “ทีแคส คือ รูปแบบการรับสมัครที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย ไม่ใช่ระบบใหม่ เพียงแต่เมื่อก่อนต่างคนต่างทำ ทปอ.ก็แค่จัดระเบียบรูปแบบการรับที่มหาวิทยาลัยดำเนินการอยู่มาจัดการและบริหารร่วมกัน โดยเพิ่ม 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก เมื่อก่อนวิ่งรอกสอบด้วยข้อสอบหลายชุด เราจัดการให้มีการสอบข้อสอบชุดเดียว แล้วนำคะแนนไปสมัคร เรื่องที่สองคือ ทำระบบที่เรียกว่าเคลียริงเฮาส์ เพื่อจัดการเรื่องสิทธิ โดยหนึ่งคนต่อหนึ่งสิทธิ ทำให้เด็กมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำ”

ศ.ดร.สุชัชวีร์
ศ.ดร.สุชัชวีร์

แต่เมื่อทีแคสดำเนินการมาถึงรอบ 3 ก็เกิดปัญหาความวุ่นวาย ดังนั้น การประชุม ทปอ. เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2561 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีมติต่อเรื่องนี้ โดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในฐานะประธาน ทปอ. กล่าวว่า “ทปอ.จะนำปัญหาทั้งหมดไปแก้ไขปรับปรุงระบบ โดยตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด ได้แก่ 1.คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของระบบทีแคสปีการศึกษา 2561 โดยมี ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธาน 2.คณะกรรมการพัฒนาระบบทีแคสปีการศึกษา 2562 มี รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธาน และ 3.คณะกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศทีแคสปีการศึกษา 2562 มี รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นประธาน”

รศ.ดร.ชูศักดิ์
รศ.ดร.ชูศักดิ์

ล่าสุด รศ.ดร.ชูศักดิ์ ระบุว่า “ทีแคสปีการศึกษา 2562 จะยังคงการสมัคร 5 รอบตามเดิม การรับสมัครแต่ละรอบ ส่งผลดีต่อเด็กแตกต่างกัน โดยรอบที่ 1 แฟ้มสะสมงาน ทำให้เด็กความสามารถพิเศษเลือกเรียนตามความถนัดของตน รอบที่ 2 รอบโควตา ทำให้เด็กในส่วนภูมิภาคได้เรียนในภูมิภาคตนเอง รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน ทำให้เด็กได้เรียนตามถนัดโดยใช้คะแนนสอบรอบที่ 4 แอดมิชชันกลาง ซึ่งไม่สามารถยกเลิกได้ หากมีการเปลี่ยนแปลงจะต้องแจ้งล่วงหน้า 3 ปี และรอบ 5 รับตรงอิสระ ถือเป็นโอกาสสุดท้ายสำหรับเด็กที่ยังไม่มีที่เรียน”

จากการที่ ทีมการศึกษา ได้ประมวลความเห็นของหลายฝ่าย เราพบว่าส่วนใหญ่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการปรับปรุงระบบทีแคสให้เป็นระบบที่สนองตอบต่อความต้องการของทุกฝ่ายให้มากที่สุด โดยยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง แต่ไม่ว่าระบบที่วางไว้จะดีมีประสิทธิภาพเพียงใด หากไม่มีการทำความเข้าใจให้ตรงกันของทุกฝ่าย ระบบที่วางไว้ก็จะเกิดความสับสน

เราจึงต้องขอฝากถึงคณะกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศฯ ของ ทปอ.คงต้องเข้ามามีบทบาทในการใช้สื่อที่มีอยู่ทุกรูปแบบ ส่งข้อมูลสร้างความเข้าใจให้เข้าถึงทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ส่วนเด็กนักเรียนก็ต้องค้นหาตนเองให้้พบว่ามีความชอบและความสามารถในสาขาวิชาใด ขณะที่กลุ่มผู้ปกครอง ก็ต้องยอมรับความสามารถของบุตรหลาน ที่สำคัญคือ ต้องเพิ่มบทบาทของระบบการแนะแนวในโรงเรียน โดยควรเป็นหน้าที่ของครูทุกคนที่จะช่วยให้นักเรียนค้นพบศักยภาพตนเอง เพื่อจะได้เลือกเรียนในสาขาวิชาที่ถนัด

ระบบทีแคสในวันนี้ อาจจะยังไม่ใช่ระบบสมบูรณ์ที่สุดในการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา และยังต้องการความร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาระบบจากทุกภาคส่วน แต่ขอเพียงทุกฝ่ายลดอัตตา ทั้งมองถึงระบบที่จะสร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียมกันอย่างจริงใจในการหาความลงตัวและอุดจุดบอดที่เกิดขึ้น

เพื่อสร้างระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเสียที.

ทีมการศึกษา