ผอ.รพ.สวนปรุง แนะ ประชาชนติดตามข่าวค้นหา 13 ชีวิตติดถ้ำ เผื่อใจทุกผลลัพธ์ทั้งบวกและลบ เลือกติดตามข่าวจากแหล่งข่าวน่าเชื่อถือ ไม่จดจ่อข่าวติดต่อกันเกิน 2 ชั่วโมง ด้าน กรมสุขภาพจิต เผย หลังครอบครัว 13 นักบอลทีมหมูป่า ได้พบนายกฯ รู้สึกช่วยผ่อนคลายกังวล มีหวังขึ้น นอนพักได้ดี
วันที่ 1 ก.ค. นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าของการปฏิบัติการดูแลจิตใจของครอบครัว 13 นักบอลทีมหมูป่าพร้อมโค้ช ซึ่งขณะนี้ยังติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ว่า ได้รับรายงานจากทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท ว่า หลังจากที่ครอบครัวนักบอลได้พบกับท่านนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้มีกำลังใจดีขึ้น บรรเทาความวิตกกังวลลงได้มาก สภาวะทางสุขภาพจิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น ยิ้ม หัวเราะได้ นอนหลับพักผ่อนได้ดี สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้
“อย่างไรก็ดี ช่วงนี้ถือเป็นช่วงวิกฤติทางใจของญาติเช่นกัน อารมณ์จิตใจจะตึงเครียด ความกังวลห่วงใยยังคงสูงตามระยะเวลาที่รอคอยจะพบกับลูกหลาน ที่ยังติดอยู่ภายในถ้ำ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อร่างกายได้ ปรากฏอาการถี่ขึ้น เช่น อาการปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องเสีย ใจสั่น ภาวะหายใจไม่อิ่ม หงุดหงิด โกรธ โมโหง่าย ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้จัดทีมจิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาลจิตเวชร่วมดูแลกับทีมของจังหวัดเชียงรายอย่างต่อเนื่อง ตลอด 24 ชั่วโมง และบูรณาการทำงานร่วมกับฝ่ายกายอย่างใกล้ชิด โดยเจ้าหน้าที่ได้จัดกิจกรรมผ่อนคลายให้ตามความเหมาะสม เช่น การฝึกสอนการนวดคลายเครียดง่ายๆ ฝึกให้ทำสมาธิ ซึ่งจะช่วยให้จิตใจผ่อนคลายลงได้ดี รวมทั้งการขอความร่วมมือสื่อมวลชนให้ระมัดระวังเรื่องการสัมภาษณ์ครอบครัว เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางจิตใจมากที่สุด” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
...
ทางด้านนายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของประชาชนทั่วประเทศที่ติดตามผลการค้นหาช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่า 13 คน ของทีมเจ้าหน้าที่ อาสากู้ภัยทุกฝ่าย ซึ่งในวันนี้เป็นวันที่ 8 อาจก่อความเครียดให้ผู้ติดตามได้เช่นกัน ดังนั้น จึงขอแนะนำให้ประชาชนยึดหลัก 6 ประการ ดังนี้
1. ให้ตั้งความหวังที่เหมาะสม ควรเผื่อใจไว้สำหรับทุกผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นทั้งบวกและลบ 2. เป็นกำลังใจให้ทีมผู้ปฏิบัติงานทุกคน 3. เลือกติดตามข่าวสารจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือเท่านั้นคือข่าวจากภาครัฐ เพื่อลดความสับสน 4. ดูแลสุขภาพร่างกาย รับประทานอาหาร และนอนหลับให้เพียงพอ เป็นเวลา 5. มีกิจกรรมผ่อนคลาย เช่นทำงานบ้าน อ่านหนังสือ ฟังเพลง ไม่จดจ่อกับข่าวติดต่อกันเกิน 2 ชั่วโมง และ 6. ทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการช่วยเหลือเท่าที่สามารถทำได้ ตามกำลังความสามารถ อาจเป็นด้านการให้ข้อมูลความรู้ หรือสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับการให้ความช่วยเหลือ