ดร.ธรณ์ ชี้วาฬนำร่องครีบสั้นตาย เพราะกินถุงพลาสติก ไม่ใช่ตัวแรก ชี้ไทย ติดอันดับ 6 โลก ปล่อยขยะลงทะเล คาดปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า 25 ล้านตัน ซ้ำส่งผลต่อคนที่กินอาหารทะเล มีพลาสติกสะสมในร่างกาย...

จากกรณีวาฬนำร่องครีบสั้น เกยตื้นบริเวณคลองนาทับ พื้นที่หมู่ 2 ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือแต่ไม่สำเร็จ เมื่อชันสูตรพบถุงพลาสติกภายในระบบทางเดินอาหารถึง 80 ใบ น้ำหนักรวม 8 กิโลกรัม จนทำให้ระบบทางเดินอาหารของวาฬนำร่องตัวนี้ล้มเหลวจนเสียชีวิต

ด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายากและกรรมการปฏิรูปประเทศ ให้สัมภาษณ์ในเฟซบุ๊กไลฟ์ของสุทธิชัย หยุ่น ถึงกรณีดังกล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาขยะทางทะเลมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก และหากยังทิ้งขยะพลาสติกในระดับนี้อยู่ภายใน 30 ปี ในทะเลจะมีขยะพลาสติกมากกว่าสัตว์น้ำ และจากการประเมินในปัจจุบันมีขยะพลาสติกในทะเลไม่ต่ำกว่า 25 ล้านตัน โดยวาฬตัวดังกล่าวไม่ใช่ตัวแรกที่เสียชีวิตเพราะขยะพลาสติกในระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากวาฬเหล่านี้จะกินปลาที่แอบอยู่ตามแพขยะ ซึ่งจะไม่เคี้ยวแต่จะกลืนลงไป จึงทำให้กลืนขยะพลาสติกเหล่านี้เข้าไปด้วย

สำหรับเศษพลาสติกเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์น้ำอย่าง วาฬ เต่าทะเล และโลมา เสียชีวิตจากการกลืนพลาสติกลงไปแบบวาฬตัวดังกล่าว หรือการที่มีพลาสติกติดอยู่ภายนอก เช่น เต่าทะเลที่มีพลาสติกติดอยู่ภายนอก จนทำให้ครีบขาดเพราะครีบเน่า จนตายในที่สุด โดยใน 1 วัน จะมีเต่าทะเลเกยตื้นตาย 1 ตัว ส่วนวาฬ มีการเกยตื้นตาย 1 ตัว ต่อ 50 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย ซึ่งพลาสติกคือสาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ทะเลเหล่านี้เสียชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม

ทั้งนี้บริเวณอาเซียนจนไปถึงจีนนั้น ติด 1 ใน 10 ของประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด ซึ่งต่างชาติจับตามองเป็นอย่างมากเนื่องจากประเทศไทยติดอันดับสูง นอกจากนี้ทะเลไม่มีเส้นแบ่งเขตสามารถลอยไปได้ทุกที่ จึงเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างมากในการสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาค เพราะนอกจากทำให้สัตว์ทะเลหายากตายแล้ว ยังมีผลต่อเนื่องถึงคน โดยขยะพลาสติกเหล่านี้จะแตกเป็นเม็ดเล็กๆ และสัตว์ทะเลจะกินพลาสติกเหล่านี้เข้าไป สุดท้ายคนก็ทานสัตว์ทะเลเป็นวงจรอาหาร ส่งผลให้มีพลาสติกสะสมในร่างกาย ซึ่งองค์การอนามัยโลกยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการมีพลาสติกสะสมจะทำให้เกิดโรคชนิดใด แต่ยืนยันว่าการมีพลาสติกสะสมในร่างกายไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน

...

ส่วนปัญหาหลักของการจัดการขยะในไทย ซึ่งใช้วิธีกลบฝังเป็นการกองภูเขาขยะ ไม่ใช่การกลบฝังจริงๆ และเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกน้ำท่วมบ่อย ขยะเหล่านี้จะถูกพัดพาลงแม่น้ำ และออกทะเลในที่สุด อย่างไรก็ตามในยุทธศาสตร์ชาติกำหนดว่าจะต้องเลิกวิธีกลบฝังภายใน 20 ปี ซึ่งควรใช้วิธีรีไซเคิลขยะพลาสติกเหล่านี้ ให้มองว่าขยะเหล่านี้คือวัตถุดิบสำหรับสิ่งอื่น แต่ถุงพลาสติกนั้นไม่คุ้มค่าในการรีไซเคิล จึงควรส่งเสริมและสร้างกลไกทางเศรษฐกิจให้มีการใช้ไบโอพลาสติกมากขึ้น เพราะสามารถย่อยสลายได้ใน 6 เดือน ต่างจากพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้

สำหรับการรณรงค์ใช้ถุงผ้าในไทยได้ผลเพียงร้อยละ 8 ซึ่งควรนำวิธีการจัดการปัญหาถุงพลาสติกของต่างประเทศ คือการใช้ระบบยูสเซอร์เพย์ หรือ การขายถุง ไม่มีการแจกถุงฟรี หากต้องการถุงจะต้องจ่ายเงินเพิ่ม วิธีการนี้สามารถเริ่มจากห้างร้านใหญ่ๆ แล้วจึงกระจายไปสู่ร้านเล็กๆ หรือตลาดต่อไป โมเดลเพื่อการลดขยะพลาสติกมีอยู่มากมาย เราสามารถเลือกมาตรการที่เหมาะสมมาปรับใช้ได้เลย

“ตอนนี้จะต้องผลักดันนโยบาย ยุทธศาสตร์ต่างๆ ด้วยต่างชาติ เพราะต่างชาติอาจออกมาตรการต่างๆ มาบีบเรา เช่น การไม่รับอาหารทะเลของเรา เพราะมีไมโครพลาสติก หรือการขึ้นภาษีปิโตรเลียม เพราะผลกระทบเกิดขึ้นกับคนทั้งโลก ซึ่งคนไทยใช้ถุงพลาสติกวันละ 8 ใบ ในขณะที่คนยุโรปใช้ถุงพลาสติกเดือนละ 3 ใบ จะต้องมาเดือดร้อนกับปัญหาขยะในทะเลมากเท่าเราหรือ วาฬเป็นเพียงสัญลักษณ์ในการเตือนว่า หากเราไม่จัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจังจะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ต้องมีมาตรการที่สามารถกระแทกให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอื่นตามมา” ดร.ธรณ์ กล่าว.