5 มิถุนายนของทุกปี คือ วันสิ่งแวดล้อมโลก
Beat Plastic Pollution คือเรื่องหลัก ของปี 2561 ซึ่งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme UNEP) ได้กำหนดการรณรงค์เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยมีคำขวัญว่า “If you can’t reuse it, refuse it” หรือ “สู้กับปัญหาขยะพลาสติก : ถ้าเอามันกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้ ก็จงปฏิเสธมันซะ” โดยพุ่งเป้าไปยัง พลาสติกประเภท “ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง”
เพราะปัจจุบัน “มลพิษจากขยะพลาสติก” ได้กลายเป็นวิกฤติสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เทียบเคียงกับ “ปัญหาภาวะโลกร้อน” ไปแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่าขยะพลาสติกกำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง เพราะ ขยะพลาสติก ที่ใช้เวลาผลิต 5 วินาที ถูกนำไปใช้แค่ 5 นาที และใช้เวลาในการกำจัดพวกมันอีก 500 ปี ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนไม่ว่าในเมืองใหญ่หรือชุมชนในชนบท ถุงพลาสติกกลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เพราะอำนวยความสะดวกสบายให้ทุกคน เมื่อต้องไปจับจ่ายสินค้าตามห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าชุมชน รวมทั้งใช้ใส่อาหารและเครื่องดื่ม
ปริมาณขยะพลาสติกจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกลายเป็น เรื่องใหญ่ที่ประชาคมโลกต่างพากันออกมาแสดงความตั้งใจ รวมถึงกำหนดมาตรการเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเกี่ยวกับขยะพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีพลาสติก แบน หรือห้ามร้านขายของแจกถุงพลาสติก รวมถึงรณรงค์การใช้พลาสติกอื่นๆ เช่น หลอดดูดน้ำ การเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม หรือแคปซีล เป็นต้น
ที่สำคัญ ปัญหาขยะพลาสติก ไม่ใช่แค่เรื่องรณรงค์เท่านั้น แต่ยังมีการเรียกร้องให้องค์กรระดับประเทศ ตั้งแต่ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ลุกขึ้นมาสู้ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆที่มากไปกว่าแค่การกำจัดขยะ
...
ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณ 12% ของประมาณปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน แต่มีการนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์เฉลี่ยประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน ที่เหลืออีก 1.5 ล้านตันส่วนใหญ่เป็นเศษขยะถุงพลาสติกที่ปนเปื้อนอาทิ ถุงร้อน ถุงเย็นบรรจุอาหาร ถุงหูหิ้ว เป็นต้น
นั่นหมายถึง ขยะพลาสติกประมาณ 80% หรือประมาณ 1.2 ล้านตัน ไม่สามารถนำมาใช้ซ้ำ ทั้งยังไม่สามารถขจัดทิ้งได้ในทันที
ขณะที่ข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า แต่ละปีทั่วโลกมีการใช้ถุงพลาสติกมากถึง 5 แสนล้านใบ ซึ่งครึ่งหนึ่งของพลาสติกที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง นอกจากนี้แต่ละปีมีปริมาณขยะพลาสติกกว่า 13 ล้านตันไหลลงสู่ทะเล ซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเลและสัตว์ทะเล เช่น เต่า-ทะเล หรือปลาขนาดใหญ่ จะคิดว่าถุงพลาสติกเป็นแมงกะพรุน ซึ่งเมื่อกินเข้าไปในกระเพาะอาหาร ถุงพลาสติกไม่สามารถย่อยได้ จึงอาจส่งผลทำให้สัตว์ทะเลเหล่านี้ตายได้
“รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาขยะพลาสติก ขณะนี้มีการรณรงค์ลดพลาสติก เช่น ยกเลิกแคปซีล นำมารีไซเคิลใหม่ ฯลฯ ล่าสุดได้สั่งการให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ร่วมมือกับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เป็นตลาดนำร่องเลิกใช้พลาสติกกับโฟม และสนับสนุนการใช้ตะกร้า หรือถุงผ้ามาจ่ายตลาด ขณะที่ก่อนหน้านี้ขอความร่วมมือกับ 17 ห้างสรรพสินค้างดใช้ถุงพลาสติกทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ และในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ มอบให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันใส่ใจลดขยะพลาสติก โดยจะมีการจัดกิจกรรม ที่อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี” พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรฯ ระบุถึงการรณรงค์เพื่อแก้ปัญหา
ขณะที่ นายรัชฏา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดี สส.ในฐานะผู้ได้รับมอบ หมายจาก ทส.กล่าวว่า “ถุงพลาสติกใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 500 ปีหรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับชนิด ซึ่งจะอยู่จนถึงรุ่นลูกหลาน ประมาณ 4–5 รุ่น เป็นมรดกตกทอดให้แผ่นดิน ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี เราต้องช่วยกันลดจำนวนการใช้ให้ได้ แต่ถ้าหากจะเลิกใช้ไปเลยเหมือนต่างประเทศ ตอนนี้ยังมองว่าเป็นเรื่องยาก เพราะคนไทยใช้กันจนเคยชินแล้ว จึงต้องมาสร้างความรับรู้เข้าใจกันใหม่”
แน่นอนทุกวันคงไม่สามารถปฏิเสธความจริงที่ว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาขยะพลาสติกล้นเมือง คำถามคือ ใครจะเป็นคนแก้ปัญหา และจะแก้ได้อย่างไร
“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า การสู้กับปัญหาขยะพลาสติก ไม่ใช่ความรับผิดชอบของภาคส่วนใดเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องที่ต้องมีการผนึกพลัง 3 ประสานอย่างจริงจัง โดยรัฐบาล ต้องเป็นหัวหอกนำด้วยนโยบายที่จริงจังเพื่อเปลี่ยนวิธีการผลิตหรือออกแบบผลิตภัณฑ์จากพลาสติกให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญไปกว่านั้นคือต้องไม่ยอมปล่อยให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ถูกลักลอบนำเข้าขยะพลาสติกที่ 35 ประเทศในโลกประกาศไม่เอาแล้วเข้ามาทิ้ง ซึ่งล่าสุดมีการจับได้ที่ด่านศุลกากรลาดกระบัง
ขณะที่เอกชนต้องปรับแผนการดำเนินงานเพื่อลดการใช้พลาสติก โดยการสร้างแรงจูงใจต่างๆ
ส่วนประชาชนในฐานะผู้บริโภคต้องเปลี่ยน ความเคยชินด้วยการ ปฏิเสธพลาสติก “ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง” หันมา “ยืดอก พกถุงผ้า” เป็นกิจวัตรประจำวัน เพื่อจะได้ไม่มีข้ออ้างว่าไม่มีถุงใส่ของที่ซื้อในแต่ละวัน
เริ่มกันเสียตั้งแต่วันนี้ ดีกว่าปล่อยให้โลกป่วยไข้ จนเกินเยียวยา.
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม