ชาไทย หรือที่รู้จักกันว่า ชาเย็น ดั้งเดิมนั้นใช้ชาซีลอนมาชงแบบเข้มข้น แต่ด้วยความที่เป็นชาราคาแพง คนไทยจึงใช้ใบเมี่ยงแห้ง (ต้นชาพื้นเมือง) มาใส่สีผสมอาหาร สีแดงและเหลือง กลายเป็นชาที่เห็นในปัจจุบัน
คนไทยส่วนใหญ่นิยมดื่มกันแบบเย็น ที่เราเรียกว่าชาเย็น โดยนำใบชามาชงด้วยน้ำร้อน เติมน้ำตาลนิด นมข้นหวานหน่อย และเหยาะนมจืดเข้าไป ทำให้ได้รสชาติหวานมัน ละมุนลิ้น และกลมกล่อม ที่หอมกลิ่นชา
ชาเย็น เป็นเมนูที่มีขายทั้งในร้านหรู รถเข็นริมทาง ร้านค้าตามห้างสรรพสินค้า และตามตลาดนัด คนที่ชื่นชอบจะดื่มกันอยู่ที่วันละ 1-2 แก้ว บางคนก็แล้วแต่โอกาส
ขนาดของแก้วปกติทั่วไปที่ชงขายอยู่ที่ประมาณ 250 มิลลิลิตร ทว่าในความหวานมัน ละมุนลิ้นของชาเย็นนั้น หลายท่านอาจไม่ได้ตระหนักว่า ปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ในชาเย็นที่เราดื่มทุกวันนั้น มีมากน้อยแค่ไหน
วันนี้สถาบันอาหารได้สุ่มเก็บตัวอย่างชาเย็นที่จำหน่ายในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 5 ตัวอย่าง เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์ปริมาณน้ำตาลทั้งหมด (ได้แก่ ฟรักโทส, กลูโคส, ซูโครส, มอลโทส, แล็กโทส) ผลที่ได้ดังตารางด้านล่าง
หากคำนวณโดยประมาณพบว่าในชาเย็น 1 แก้ว (ขนาด 250–300 มิลลิลิตร) จะมีน้ำตาลทั้งหมดในปริมาณ 53.27–67.14 กรัม หรือประมาณ 13–16.79 ช้อนชา นี่ยังไม่รวมที่จะได้รับจากอาหารชนิดอื่นๆที่ทานอีก
ปกติปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายควรได้รับต่อวันอยู่ในช่วง 6-8 ช้อนชา (ตามความเหมาะสมของอายุ) หรือในปริมาณ 24-32 กรัมต่อวัน
ฉะนั้น ท่านที่ดื่มชาเย็นวันละ 2 แก้ว หรือมากกว่า ถ้ายังถามว่าอ้วนได้อย่างไร เป็นเบาหวานได้อย่างไร เห็นจะหาสาเหตุได้ไม่ยาก
วันนี้ หากต้องการห่างไกลจากโรคอ้วน ความดัน เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง ขอแนะว่าให้ดื่มแต่พอดี อาจเพียงวันละแก้วตามความอยากและความชอบ เพื่อความแข็งแรงและมีสุขภาพที่ดี.
...
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย