เสียงเพลงสร้างความสุขเป็นสิ่งที่หลายคนไม่ปฏิเสธ แต่บางครั้งก็มีสิ่งน่าแปลกใจว่าเสียงดนตรีที่สร้างสุนทรียะ บางเพลงมีเนื้อร้องแสนเศร้าสุดเหงาแต่ถูกห่มคลุมด้วยดนตรีที่มีเมโลดี้ไพเราะ หรือจังหวะสนุกจนคนฟังขยับแข้งขาเต้นตาม ทำให้จิตใจเบิกบานผ่อนคลาย ทั้งๆ ที่เนื้อร้องและความหมายช่างย้อนแย้งกับดนตรี

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเออร์ไวน์ ในสหรัฐอเมริกา ได้รายงานลงในวารสารรอยัล โซไซตี้ โอเพน ไซเอนซ์ (Royal Society Open Science) หลังจากศึกษาวิวัฒนาการเกี่ยวกับเสียงเพลงในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยใช้ข้อมูลจากคลังเพลง 500,000 เพลงที่เผยแพร่ในสหราชอาณาจักรช่วงปี พ.ศ.2528-2558 และคัดเพลงฮิตมาวิเคราะห์ลักษณะเสียงดนตรีเท่านั้น ไม่ดูที่เนื้อร้อง ทีมวิจัยพบว่าเพลงฮิตทุกวันนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงที่มีความคึกคัก เต้นรำได้ และมีแนวโน้มว่าจะเป็นเพลงที่ขับร้องโดยศิลปินผู้หญิง แต่ในขณะเดียวกันคนฟังอาจไม่ได้สนใจมองที่เนื้อหาว่าสื่อสารความสุขหรือความเศร้าออกมา พวกเขารับเอาแค่ความสนุกสนานของภาคดนตรีมากกว่า

มีการศึกษาก่อนหน้านี้ในช่วงปี พ.ศ.2523-2550 พบว่าเนื้อเพลงส่วนใหญ่จะมุ่งให้ความสำคัญกับตัวเองผ่านคำว่า “ฉัน” มากกว่าจะใช้คำว่า “เรา” หรือคำที่มีเชิงต่อต้านสังคมอย่าง “เกลียด” และ “ฆ่า” แต่ปัจจุบันนี้การเขียนเพลงมักพูดถึงเรื่องความเหงา ภาวะแปลกแยกหรือสภาพความผิดปกติทางจิตที่มีต่อสังคม แม้ว่าเพลงป๊อปจะยังครองความนิยมไม่เสื่อมคลาย แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าเพลงฮิตเดี๋ยวนี้อาจเชื่อมโยงกับการสร้างดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนดนตรีร็อกหรือพวกเฮฟวี่ เมทัลกลับลดลง แต่หากถามว่าการวิจัยนี้จะให้แนวทางกับนักแต่งเพลงอย่างไร ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด เพราะองค์ประกอบความสำเร็จนั้นไม่อาจใช้วิธีทางคณิตศาสตร์คำนวณได้.

...