กรณีที่ ชาวเชียงใหม่ นับพันคนออกมาประท้วงต่อต้าน การสร้างบ้านพักศาลอุทธรณ์ ภาค 5 หมู่บ้านป่าแหว่งประกาศเจตนารมณ์ ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ทำท่าจะเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต
ประเด็นนี้ ต้องแยกปัญหาเป็นกรณีไป เรื่องของการออกมาต่อต้านเพื่อทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพเพราะเหตุผลที่ว่า เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นพื้นที่เก่าแก่ของชาวเชียงใหม่ก็ถูก
เหตุผลที่อ้างว่า เป็นที่ราชพัสดุ เพราะฉะนั้นจึงอนุญาตให้สร้างบ้านพักราชการได้ก็ถูกอีก ไม่ได้เป็นการบุกรุกป่า หรือทำผิดกฎหมาย มีการอนุมัติให้ก่อสร้างซึ่งไม่ได้เป็นบ้านพักส่วนตัว ส่วนบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นสมบัติของทางราชการ ก็ถูกอีกเช่นกัน
ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผล ถ้ายึดเอาตามระเบียบข้อกฎหมายตรงไปตรงมาก็ทำอะไรราชการหรือตุลาการไม่ได้ แต่ถ้าฝ่ายคัดค้านจะอ้างว่า เป็นการตัดต้นไม้ทำลายธรรมชาติของพื้นที่ป่าก็ไม่ผิดอีก ยันกันไปอย่างนี้ไม่มีใครผิดใครถูก เหมือนปัญหาโลกแตก ไก่เกิดก่อนไข่หรือไข่เกิดก่อนไก่ เพราะเข้าใจว่า คนที่อนุมัติโครงการก็คงเกษียณอายุไปแล้วไม่มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์ คนที่จะได้ใช้ประโยชน์ก็ไม่ได้เป็นคนอนุมัติ จะอ้างว่าเล็งเห็นผลประโยชน์ก็คงไม่ได้
คำถามที่ตามมาคือ ทำไมเพิ่งจะมาคัดค้านกันตอนนี้ มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรก็เป็นอีกเรื่อง แต่มาคัดค้านเอาตอนที่บ้านพักจวนจะเสร็จเรียบร้อยแล้ว มาคัดค้านในช่วงที่บ้านเมืองกำลังเข้าสู่หน้าสิ่วหน้าขวาน ก็เลยดูทะแม่งชอบกล
โดยเฉพาะประเด็นที่ จะต้องให้รัฐบาลรื้อบ้านพัก ให้ได้ ข้อนี้ เป็นเรื่องใหญ่อยู่ งบประมาณที่สร้างไปแล้วกับที่จะต้องมีรื้อถอนกันทั้งๆที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ คุ้มค่าหรือไม่ จะได้ป่าคืนมาทันทีหรือไม่ แล้วสัญญาการก่อสร้างจะทำอย่างไร หรือให้รัฐเสียค่าโง่ ไปตามระเบียบ
...
ต้องคิดให้ดี
ระหว่าง กฎหมาย เหตุผล และความเป็นจริง ต้องไปในทิศทางเดียวกัน เช่นการแก้ปัญหา การบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนเพื่อปลูกยางพารา โดยการสั่งให้โค่นต้นยางที่มีอยู่เป็นจำนวนหลายพันหลายหมื่นไร่
มีแต่เสียกับเสีย
แทนที่จะใช้ประโยชน์จากน้ำยาง ต้นยาง ใช้ประโยชน์จากป่ายาง ให้ชาวบ้านเขม่าไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตต่อไป แค่ยึดมาเป็นทรัพย์สินของรัฐก็น่าจะพอแล้ว ไปโค่นทิ้งเท่ากับเป็นการทำลายทรัพย์สินของประเทศเสียฉิบ
เพราะปัญหาไม่ใช่อยู่ที่ต้นยาง หรือไม่ใช่อยู่ที่บ้านพักตุลาการ
อันที่จริงถ้าจะแก้ปัญหาของบ้านเมืองโดยใช้สติ ก็จะเห็นทางออกที่จะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย อย่างความเห็นของดำรง พิเดช หัวหน้าพรรคทวงคืนผืนป่า อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ เคยแสดงความเห็นว่า วิธีแก้การบุกรุกป่าคือ ทำอย่างไรให้คนรักษ์ป่า
และอยู่กับป่าโดยการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ต้องแก้ปัญหาอย่างมีสติไม่ใช่ด้วยอคติหรือทัศนคติที่ไม่ตรงกัน ถึงจะแก้ปัญหาได้อย่างสะเด็ดน้ำ.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th