วางแผนชีวิตเสียแต่เนิ่นๆ... ตั้งหลักได้เร็ว เท่าไหร่ชีวิตก็จะยิ่งมั่นคงมากเท่านั้น ไม่ต้องรอวันสังขารร่วงโรย...กว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว
มั่นคงแล้วก็ต้องรัดกุม ใช่ว่าถึงเวลาเข้าวัย “เกษียณ”...มีเงินในกระเป๋าที่เก็บมาทั้งชีวิตแล้วคิดว่าสบายแล้ว แต่อาจจะเกิดเหตุพลาดพลั้งให้ต้องขัดสนอับจนก็เป็นได้
“ผู้สูงวัย” จึงควรที่จะต้องวางแผนบริหารชีวิต...บริหารเงินหลังวัยเกษียณกันให้ดีๆ อาจจะเริ่มด้วยหลักยึดง่ายๆจากการทำบัญชีตรวจสอบทรัพย์สินของตัวเองที่มีทั้งหมดกันเสียก่อน คำนวณรายรับ...รายจ่าย
แล้วก็คำนวณแบบประมาณคร่าวๆว่าน่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกสักกี่ปี ...แม้ว่าไม่มีใครรู้ว่าจะตายวันตายพรุ่งเมื่อไหร่ แต่ก็ดูได้จากญาติพี่น้องเอามาเฉลี่ยกันแบบไม่ต้องเครียดก็แล้วกัน ถึงตรงนี้ก็ให้คำนวณต่อไปอีกว่าแล้วคุณต้องใช้เงินปีละประมาณเท่าไหร่...เพื่อจะได้ตัวเลขคร่าวๆ
ตัวเขียวหรือตัวแดง...ไม่เป็นไรไม่ต้องกังวล อย่างน้อยๆ ก็สะท้อนให้ได้รู้ตัวเอง เตรียมรับมือกับอนาคตที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีภูมิคุ้มกัน
จะมีมาก...หรือมีน้อย ควรที่จะต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด รู้คุณค่า ใช้เท่าที่จำเป็น...ด้วยทรัพยากรจำกัด อีกทั้งก็ไม่มีโอกาสที่จะหาเพิ่มให้งอกเงยขึ้นมาได้ จะจ่ายอะไรออกไปยิ่งต้องคิดให้หนัก
อยู่แบบมีเงินแต่ไม่มีความสุขก็ไม่ดี...อยู่แบบไม่มีเงินก็ลำบาก แต่ถ้าแลกมาด้วยการได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข...เอา “ความสุข” ของตนเองเป็นที่ตั้งแม้จะคับที่ก็อยู่ได้แต่คับใจอยู่ลำบาก แน่นอนว่าย่อมดีกว่า
การใช้ชีวิตหลังเกษียณจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าใดนัก...จะต้องทำอะไรบ้าง? จะต้องทำอย่างไร? เป็นคำถามท้าท้ายที่สำคัญของแต่ละคนที่มีปัจจัยมากน้อยแตกต่างกันออกไป
...
“ชีวิตวัยเกษียณ”...ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์ ความคิดที่ต้องแบกรับ ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ก็อาจจะรู้สึกว่า...ชีวิตไร้คุณค่า
...ผลต่อจิตใจที่คนไม่น้อยต้องเผชิญ มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หมกมุ่นแต่เรื่องของตัวเอง ซึมเศร้า ขี้หงุดหงิด โมโหง่าย เกิดช่องว่างระหว่างวัยกับลูกๆหลานๆสมาชิกในบ้าน
แน่นอนว่าคนวัยนี้ต้องได้รับการดูแลอย่างเต็มพร้อม หลัก “5 อ” อาหาร อารมณ์ อดิเรก ออกกำลังกาย อนามัย...ยังคงใช้ได้ดี ที่สำคัญจิตใจต้องอาศัยธรรมะนำทางใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ไม่ว้าวุ่นหัวใจ
ใช้ชีวิตและเวลาที่ยังเหลืออยู่อย่างมีคุณค่า ใช้ความรู้ความสามารถที่มี ประสบการณ์เรียนรู้รอบตัวทั้งสำเร็จ สมหวัง ทั้งผิดหวัง ล้มเหลว นำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับคนรอบข้างและสังคม
คำว่า “เกษียณ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีความหมายว่า “สิ้นไป” ใช้เกี่ยวกับการกำหนดอายุ เช่น เกษียณอายุราชการ ก็จะหมายถึงการสิ้นกำหนดเวลารับราชการ ส่วนใหญ่แล้วประเทศต่างๆในแถบเอเชีย รวมถึงประเทศไทย จะกำหนดให้บุคคลที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ต้องเกษียณพ้นจากสภาพการทำงาน
เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน หลังจากตรากตรำทำงานมาตลอดทั้งชีวิต
สิ่งที่ต้องเน้นย้ำ “การเกษียณ” เป็นเรื่องของการกำหนดเวลาเพื่อพ้นการทำงานเท่านั้น ไม่ใช่ว่าคนอายุ 60 ปี จะต้องเปลี่ยนสถานภาพเป็นผู้สูงอายุเสมอไปเหมือนในอดีตวันวาน
ในปี 2568 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” เต็มตัว มีผู้สูงอายุกว่า 14 ล้านคน ผลสำรวจที่ผ่านมาด้านสุขภาพผู้สูงอายุกว่า 1 ล้านคนที่สุขภาพไม่ดี นอนติดเตียงต้องพึ่งคนอื่นดูแล และมีแนวโน้มต้องอยู่ลำพังไร้ลูกหลานดูแลเพิ่มมากขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเร่งพัฒนาการดูแลทั้งระบบ
ข้อมูลปี 2557 ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 64.5 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 9.4 ล้านคน...คิดเป็นร้อยละ 14.5 ของประชากร โดยมีสถิติเพิ่มขึ้นปีละ 5 แสนคน
คาดว่าเมื่อถึงปี 2568 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 20 กล่าวคือ...จะมีผู้สูงอายุ 1 คน ในประชากรทุกๆ 5 คน
ประเด็นสำคัญคือการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุด้วย “โรคเรื้อรัง”...ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วนลงพุง โรคข้อเสื่อม นอกจากนี้ ยังพบปัญหาสายตาไม่ดี มองเห็นไม่ชัดเจน...และปัญหาการบดเคี้ยวอาหารเพราะเหลือฟันแท้ในปากไม่ถึง 20 ซี่
สิทธิสวัสดิการ “ผู้สูงอายุ” ที่ต้องรู้เว็บไซต์กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ www.m–society.go.th การขึ้นทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมีการจ่ายแบบขั้นบันได...อายุ 60-69 ปี จะได้รับ 600 บาท...อายุ 70-79 ปี จะได้รับ 700 บาท...อายุ 80-89 ปี จะได้รับ 800 บาท...อายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท
ในกรณีผู้สูงอายุที่มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุย้ายทะเบียนบ้าน ให้เทศบาล หรือ อบต.ที่เคยจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดิม ยังคงจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจนกว่าจะสิ้นสุดปีงบประมาณนั้น คือเดือนกันยายน
หากมีความประสงค์จะรับเบี้ยยังชีพกับเทศบาลหรือ อบต.แห่งใหม่ ต้องไปจดทะเบียนเพื่อขอรับเบี้ยยังชีพที่เทศบาลหรือ อบต.แห่งใหม่ภายในวันที่ 1-30 พฤศจิกายนของทุกปี
และเริ่มรับเงินใหม่ในเดือนตุลาคมของปีถัดไป
สำหรับผู้ที่จะลงทะเบียนใหม่ คุณสมบัติ...สัญชาติไทย มีอายุ 59 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป...ในกรณีที่ทะเบียนราษฎร์ระบุเฉพาะปีเกิด ให้ถือว่าบุคคลนั้นเกิดวันที่ 1 มกราคมของปีนั้น เช่น เกิด พ.ศ.2497 ให้ถือว่าเกิดวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2497 และขอรับเบี้ยตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
นอกจากนี้ยังต้องไม่เป็นผู้ที่ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเทศบาล อบต. ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน
รวมถึงผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐ หรือเทศบาล อบต.จัดให้เป็นประจำ ยกเว้นผู้พิการและผู้ป่วยเอดส์ตามระเบียบ
เอกสารที่ต้องเตรียมไปด้วยก็คือ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ชุด, สำเนาทะเบียนบ้าน 1 ชุด และสำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก (ออมทรัพย์) 1 ชุด
ถึงตรงนี้มีเคล็ดไม่ลับกันลืมสำหรับคนทำงานบริษัทเอกชน
วัยเกษียณ...ถ้าจะขอรับเบี้ยยังชีพแล้วและยังจะส่งต่อประกันสังคมแบบต่อเนื่องก็ให้เปิดบัญชีใหม่เอาไว้รับเฉพาะเบี้ยฯผู้สูงอายุ แล้วก็ให้ประกันสังคมหักผ่านบัญชีนี้อัตโนมัติ หักลบกันแบบพอดีๆ จะได้ไม่ขาดส่ง...กันลืมแบบง่ายๆสบายกระเป๋าเลยทีเดียว
ต่ออีกนิด...ผู้สูงอายุที่ขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่วันที่ 1-30 พฤศจิกายนของทุกปี จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมของปีถัดไป (ไม่มีการจ่ายย้อนหลัง)
สำหรับการยื่นสามารถยื่นเอกสารแทนผู้สูงอายุได้ และหากผู้สูงอายุมีความประสงค์โอนเงินเข้าบัญชีผู้อื่น ต้องมีหนังสือมอบอำนาจตัวจริง พร้อมสำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้านผู้รับมอบอำนาจอย่างละ 1 ชุด
วัยชราเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายอ่อนแรงโรยรา แต่ก็เป็นเวลาดีที่จะได้พักผ่อน ...ให้ชีวิตได้มีช่วงเวลาดีๆ ขอให้ผู้สูงวัยทุกคนค้นให้พบวิถี... “แก่อย่างมีคุณภาพ ชราอย่างมีความสุข”.