เปิดอีกหนึ่งตัวละครสำคัญทางประวัติศาสตร์ “ศรีปราชญ์” กวีเอกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต้องโทษเนรเทศออกจากเมือง ซ้ำโดนใส่ร้ายจนถูกสั่งประหารชีวิต ทิ้งไว้เพียงโคลงสุดท้ายอันโด่งดัง...

จากกระแสละคร บุพเพสันนิวาส ที่มีการดำเนินเรื่องอ้างอิงประวัติศาสตร์ในช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และมีการพูดถึงตัวละครที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ อีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่กำลังจะโผล่เข้ามาอีกฉาก นั่นก็คือ ศรีปราชญ์ บุตรของพระโหราธิบดี และเป็นพี่ชายของ ขุนศรีวิสารวาจา

ศรีปราชญ์ เป็นกวีเอกคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่า ศรีปราชญ์ คงจะเกิดในปี พ.ศ. 2196 หรือ 3 ปี ก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์เสด็จขึ้นครองราชย์ ครั้งหนึ่ง พระโหราธิบดี บิดาของศรีปราชญ์ เข้ารับราชการในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ทั้งทรงแต่งโคลงบทหนึ่ง ว่า

อันใดย้ำแก้มแม่ หมองหมาย
ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย ลอบกล้ำ

จากนั้นก็ทรงติดขัด แต่งอย่างไรก็ไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงพระราชทานให้แก่ พระโหราธิบดี แต่งต่อเลยทันที แต่ว่าไม่สามารถแต่งต่อได้ จึงขอนำกระดานชนวนนั้นกลับมาที่บ้าน เมื่อถึงบ้านก็นำกระดานชนวนไปไว้ที่ห้องพระ เนื่องจากถือเป็นของสูง แล้วก็ไปอาบน้ำชำระร่างกาย ศรีปราชญ์ บุตรชายวัย 7 ขวบ ก็เข้ามาหาพ่อที่ห้องพระ แล้วก็เหลือบไปเห็นกระดานชนวนที่วางอยู่ จึงแต่งต่อว่า

อันใดย้ำแก้มแม่ หมองหมาย
ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย ลอบกล้ำ
ผิวชนแต่จักกราย ยังยาก
ใครจักอาจให้ช้ำ ชอกเนื้อเรียมสงวน

เมื่อพระโหราธิบดีเข้ามาที่ห้องพระ สังเกตว่ากระดานวางอยู่ต่างจากเดิม แต่เมื่อเห็นโคลงที่บุตรชายแต่งต่อก็หายโกรธในทันที วันรุ่งขึ้น พระโหราธิบดีก็นำกระดานชนวนนั้นไปถวายสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อพระองค์ทรงทราบความจริงว่าบุตรชายเป็นผู้แต่งโคลงต่อจากพระองค์ กลับทรงพอพระราชหฤทัยยิ่งขึ้น พร้อมขอให้นำบุตรชายเข้าถวายตัวเพื่อรับราชการ

...

จนกระทั่ง ศรีปราชญ์ อายุได้ 15 ปี ได้ศึกษาสรรพวิทยาการต่างๆ จากบิดาจนหมดสิ้น แต่ก่อนที่จะนำ ศรีปราชญ์ เข้าถวายตัว ได้ทรงขอพระราชทานคำสัญญาจากสมเด็จพระนารายณ์ 1 ข้อ คือ "เมื่อเจ้าศรีเข้ารับราชการแล้ว หากภายหน้า ถ้ามันกระทำความผิดใดที่ไม่ใช่ความผิดต่อราชบัลลังก์ มีโทษถึงตาย ก็ขอได้โปรดงดโทษตาย หากจะลงโทษก็ขอเพียงให้เนรเทศให้พ้นไปจากเมือง อย่าให้ต้องถึงกับประหารชีวิต"

กระทั่ง คืนวันลอยกระทง ศรีปราชญ์ ได้ดื่มสุราแล้วเมา จากนั้นก็เดินไปข้างๆ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เพราะฤทธิ์สุรา เมื่อทรงเห็นศรีปราชญ์มายืนข้างๆ ก็ไม่พอพระทัย จึงว่าศรีปราชญ์เป็นโคลง แล้วศรีปราชญ์ก็โต้กลับเป็นโคลง ทำให้สนมเอกไม่พอพระทัย ไปทูลฟ้องสมเด็จพระนารายณ์ พระองค์จึงให้ศรีปราชญ์ไปอยู่ในคุกหลวง ก็ถูกกลั่นแกล้งให้มีโทษถึงประหาร แต่เคยรับปากพระโหราธิบดีไว้ จึงเนรเทศศรีปราชญ์ไปเมืองนครศรีธรรมราช เพราะว่าท่านเจ้าเมืองเองก็มีใจชอบด้านกวีอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ด้วยความอัจฉริยะของ ศรีปราชญ์ ทำให้ท่านเจ้าเมืองโปรดปราน และทำให้มีคนหมั่นไส้และเคืองแค้น จึงได้ใส่ร้ายว่าลักลอบเป็นชู้กับภริยาของพระยานคร ด้านพระยานครหลงเชื่อ จึงสั่งให้นำตัวศรีปราชญ์ไปประหารชีวิต ศรีปราชญ์ ประท้วงโทษประหารชีวิต แต่ท่านเจ้าเมืองไม่ฟัง ก่อนที่เพชฌฆาตจะลงดาบประหารศรีปราชญ์ ได้ขออนุญาตเขียนโคลงบทสุดท้ายไว้กับพื้นธรณีว่า

ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน
เราก็ศิษย์มีอาจารย์ หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหาร เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนี้คืนสนองฯ

อย่างไรก็ตาม ข่าวการประหาร ศรีปราชญ์ แพร่ไปถึงพระกรรณของ สมเด็จพระนารายณ์ ผู้ซึ่งใคร่จะเรียกตัวศรีปราชญ์มาใช้งานในเมืองหลวง พระองค์ทรงพระพิโรธเจ้าเมืองนครฯ ผู้ซึ่งกระทำการโดยปราศจากความเห็นชอบของพระองค์ เมื่อพระองค์ได้ทราบถึงโคลงบทสุดท้ายของศรีปราชญ์ จึงมีพระบรมราชโองการให้นำเอาดาบที่เจ้าพระยานครฯ ใช้ประหารศรีปราชญ์นั้น นำมาประหารชีวิตเจ้านครศรีธรรมราช ให้ตายตกไปตามกัน สมดังคำที่ศรีปราชญ์เขียนไว้เป็นโคลงบทสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิตว่า “ดาบนี้คืนสนอง”.

ศรีปราชญ์ กวีเอกสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ศรีปราชญ์ กวีเอกสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช