หวั่น 2 ร่าง พ.ร.บ.อุดมฯ ก่อปัญหาปฏิบัติงาน กระทบบัณฑิตขอรับใบอนุญาต

เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายทัศไนย ไชยแขวง อุปนายกสภาทนายความ พร้อมด้วยตัวแทนสภาวิชาชีพจากสภาวิศวกร สภาสถาปนิก สภาเทคนิคการแพทย์ สัตวแพทยสภา สภาวิชาชีพบัญชี ยื่นหนังสือในนามสมาพันธ์สภาวิชาชีพ 11 แห่ง ต่อ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ โดย ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี ศธ.รับเรื่องแทน เพื่อแสดงข้อห่วงใยต่อร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา และ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา โดยเสนอขอให้ทบทวนและยกเลิกบางมาตรา

นายทัศไนยกล่าวว่า สมาพันธ์สภาวิชาชีพมีความห่วงใยต่อร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ในประเด็นต่างๆ คือ ประสิทธิภาพในสายงานบังคับบัญชาที่ทับซ้อนระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกับคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งขัดต่อหลักการบริหารราชการแผ่นดิน, ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษามีบทบัญญัติขัดแย้งกับ พ.ร.บ.ของสภาวิชาชีพต่างๆ จะทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติงาน, ควรทบทวนคำนิยมคำว่า “องค์กรวิชาชีพ” ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมถึงอำนาจหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพตามที่กฎหมายขององค์กรวิชาชีพกำหนด, การได้มาซึ่งประธาน กกอ. เสมือนว่าจะขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย, ควรทบทวนการให้บริการทางวิชาชีพของสถาบันการศึกษา ที่สำคัญการที่กฎหมายใหม่ไม่ให้องค์กรวิชาชีพรับรองหลักสูตร รับรองคณะซึ่งจัดการศึกษาสาขานั้นๆ ที่มีอยู่จำนวนมาก โดยให้บัณฑิตที่จบจากสาขานั้นมาสอบรับใบประกอบวิชาชีพเมื่อจบการศึกษา ที่ผ่านมาแม้ว่าสภาวิชาชีพจะเข้าไปดูแลตั้งแต่หลักสูตร อุปกรณ์ครุภัณฑ์ ก็ยังมีผู้สอบผ่านรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจำนวนไม่มาก อาทิ สภาทนายความมีผู้สอบผ่าน 10-20% สภาการพยาบาลสอบผ่าน 60% ต่อไปหากไม่ให้สภาวิชาชีพลงไปดูแลตั้งแต่ต้น จะยิ่งส่งผลให้มีผู้สอบไม่ผ่าน กระทบต่อผู้เรียน ซึ่งใช้เวลาเรียน 4 ปี แต่ไม่สามารถสอบผ่านขอรับใบอนุญาตได้

...

นางศิริรัตน์ ลิกานนท์สกุล เลขาธิการสภาเทคนิคการแพทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาพันธ์สภาวิชาชีพได้เข้าพบ ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) แล้ว และเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ฉบับของ กอปศ.ที่มีเพียง 65 มาตรา โดยตัดมาตราที่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพออกไปแล้ว และไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ฉบับคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาที่มี 82 มาตรา ซึ่งมีเนื้อหาที่แข็งไม่ยืดหยุ่น.