สทศ.เผยผลสอบโอเน็ตปี 2560 ทั้ง ม.3 และ ป.6 ใน 4 วิชาหลัก คะแนนเฉลี่ยเพิ่ม-ลดใกล้เคียงกับปีที่แล้ว โดยคณิตศาสตร์ ม.3 เฉลี่ย 26.30 อังกฤษ 30.45 วิทยาศาสตร์ 32.28 และ ภาษาไทย 48.29...

เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2561 รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สทศ. จัดการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานหรือ โอเน็ต ม.3 ประจำปีการศึกษา 2560 เมื่อวันที่ 3-4 ก.พ.2561 จำนวน 4 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ นั้น สทศ.ได้ทำการประกาศผลสอบเรียบร้อยแล้ว ทางเว็บไซต์ของ สทศ. และได้สรุปผลการสอบโอเน็ต ม. 3 ดังนี้

ภาษาไทย มีผู้เข้าสอบทั้งสิ้น 643,904 คน คะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ 48.29 คะแนน เมื่อจำแนกตามสังกัดพบว่า คะแนนเฉลี่ยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) (โรงเรียนสาธิต) สูงสุด ซึ่งมีผู้เข้าสอบ 4,514 คน มีคะแนนเฉลี่ย  65.02 คะแนน รองลงมาคือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) มีผู้เข้าสอบ 347,351 คน คะแนนเฉลี่ย  50.25 คะแนน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีผู้เข้าสอบ 475,643 คน คะแนนเฉลี่ย 48.77 คะแนน, สำนักการศึกษาเมืองพัทยา ผู้เข้าสอบ 1,014 คน คะแนนเฉลี่ย 48.46 คะแนน และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ผู้เข้าสอบ 819 คน คะแนนเฉลี่ย 48.31 คะแนน ตามลำดับ  

ภาษาอังกฤษ ผู้เข้าสอบ 643,592 คน คะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ  30.45 คะแนน แยกตามสังกัดพบว่า คะแนนเฉลี่ยในสังกัด สกอ. (ร.ร.สาธิต) สูงสุด โดยมีผู้เข้าสอบ 4,512 คน คะแนนเฉลี่ย  53.49 คะแนน, รองลงมาคือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ผู้ข้าสอบ 96,816 คน คะแนนเฉลี่ย 32.92 คะแนน, สพม. ผู้เข้าสอบ 347,100 คน คะแนนเฉลี่ย 31.21 คะแนน,  สพฐ.เข้าสอบ 475,338 คน คะแนนเฉลี่ย 30.14 คะแนน, เมืองพัทยา เข้าสอบ 1,013 คน คะแนนเฉลี่ย 29.28 คะแนน ตามลำดับ

...

คณิตศาสตร์ ผู้เข้าสอบ 643,772 คน คะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ 26.30 คะแนน แยกตามสังกัดพบว่า คะแนนเฉลี่ยในสังกัด สกอ. (ร.ร.สาธิต) สูงสุด โดยมีผู้เข้าสอบ 4,513 คน คะแนนเฉลี่ย  55.63 คะแนน รองลงมาคือ สพม. ผู้เข้าสอบ  347,248 คน คะแนนเฉลี่ย 28.34 คะแนน, สช. ผู้เข้าสอบ 96,796 คน คะแนนเฉลี่ย 26.88 คะแนน, สพฐ. เข้าสอบ 475,533 คน คะแนนเฉลี่ย 26.55 คะแนน, เมืองพัทยา เข้าสอบ 1,014 คน คะแนนเฉลี่ย  24.07 คะแนน ตามลำดับ

วิทยาศาสตร์ ผู้เข้าสอบ 643,462 คน คะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ 32.28 คะแนน แยกตามสังกัด พบว่า คะแนนเฉลี่ยในสังกัด สกอ. (ร.ร.สาธิต) สูงสุด โดยมีผู้เข้าสอบ 4,508 คน คะแนนเฉลี่ย  46.68 คะแนน รองลงมาคือ สพม. เข้าสอบ 346,987 คน คะแนนเฉลี่ย  33.30 คะแนน, สพฐ.เข้าสอบ 475,218 คน คะแนนเฉลี่ย  32.47 คะแนน, สช.เข้าสอบ 96,827 คน คะแนนเฉลี่ย 32.33 คะแนน, เมืองพัทยา เข้าสอบ 1,013 คน คะแนนเฉลี่ย 31.34 คะแนน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคะแนนเฉลี่ยโอเน็ต ม.3 ซึ่งแยกตามขนาดโรงเรียน พบว่า ร.ร.ขนาดใหญ่พิเศษ มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดทุกวิชา, โรงเรียนในเมืองมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าร.ร.ที่ตั้งอยู่นอกเมือง โดยมีโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร จะมีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด 

สำหรับคะแนนสอบโอเน็ต ป. 6 ซึ่งสอบเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยสอบ 4 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ นั้น จากการจำแนกผลคะแนนพบว่า ภาษาไทย เข้าสอบ 704,705 คน คะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ 46.58 คะแนน, ภาษาอังกฤษ เข้าสอบ 704,692 คน คะแนนเฉลี่ย 36.34 คะแนน , คณิตศาสตร์ เข้าสอบ 704,633 คน คะแนนเฉลี่ย 37.12 คะแนน , วิทยาศาสตร์ เข้าสอบ 704,697 คน คะแนนเฉลี่ย 39.12 คะแนน เมื่อจำแนกตามสังกัด พบว่า โรงเรียนสังกัด สกอ. หรือ ร.ร.สาธิต มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด 3 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย เฉลี่ย 61.52 คะแนน,ภาษาอังกฤษ เฉลี่ย 65.70 คะแนน , คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 59.47 คะแนน ส่วนวิทยาศาสตร์ เฉลี่ยสุงสุพคือ โรงเรียนสังกัดสถาบันพลศึกษา เฉลี่ย 54.67 คะแนน 

เมื่อจำแนกตามขนาดโรงเรียน พบว่า ร.ร.ขนาดใหญ่พิเศษ มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดทุกวิชา และโรงเรียนในเมือง มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด และหากแยกตามภูมิภาคพบว่า โรงเรียนที่ตั้งในกรุงเทพฯ มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดเช่นกัน 

ด้าน รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่า ในภาพรวม ผลสอบโอเน็ต นักเรียน ป. 6 และ ม. 3 มีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง ซึ่งไม่แตกต่างจากผลสอบปี 2559 มากนัก โดย ป. 6 คะแนนภาษาอังกฤษ เพิ่มขึ้น  ส่วนคณิตศาสตร์ ลดลง 4 คะแนน, วิทยาศาสตร์ ลดลง 2 คะแนน, สำหรับผลสอบโอเน็ต ม. 3 คณิตศาสตร์ ลดลง 3 คะแนน ,วิทยาศาสตร์ ลดลง 3 คะแนน,ภาษาไทย เพิ่มขึ้น 2 คะแนน ส่วนภาษาอังกฤษ เท่าเดิม และหากจำแนกคะแนนตามพื้นที่และขนาดโรงเรียน ก็พบว่า โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ ตั้งอยู่ในเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ จะมีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดทุกวิชา

ผอ.สทศ. กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม สทศ.ได้จำแนกคะแนนสอบในรายละเอียดตั้งแต่ รายบุคคล โรงเรียน เขตพื้นที่ และปีนี้ จำแนกกลุ่มใหม่ คือ ระดับ กศจ. และ กศภ. ทั้ง 18 ภาค โดยระดับรายบุคคล จะทำให้นักเรียนทราบถึงจุดอ่อนจุดแข็งในแต่ละวิชา เพื่อเป็นประโยชน์ในการใช้วางแผนการเรียนระดับ ม. 1 และ ม. 4 ว่าควรเน้นหรือปรับปรุงวิชาใด สำหรับคะแนนรายโรงเรียน สทศ.จำแนกลงถึงแต่ละสาระการเรียนรู้ ของแต่ละกลุ่มสาระวิชา เพื่อให้ครูผู้สอนนำไปขับเคลื่อนต่อได้ในปีการศึกษาต่อไป ส่วนคะแนนที่จำแนกตามรายที่ตั้ง ภูมิภาค ขนาดโรงเรียน ก็เพื่อประโยชน์สำหรับ ศึกษาธิการจังหวัดและศึกษาธิการภาค รวมทั้งผอ.เขตพื้นที่ จะนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ที่ตนดูแลได้ต่อไป

“ผมอยากเชิญชวนให้ผู้เกี่ยวข้องทุกระดับวิเคราะห์รายละเอียดข้อมูลที่ สทศ.ส่งไปให้ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง โดยเปรียบเทียบจากโรงเรียนขนาดเดียวกัน ,ภูมิภาคเดียวกัน ,สังกัดเดียวกัน ก่อน จะทราบว่า ร.ร.ของเรากับเพื่อนโรงเรียนที่ลักษณะเดียวกัน มีคะแนนมากน้อยแตกต่างกันอย่างไร แล้วลองเปรียบเทียบกับสังกัดอื่น ซึ่งจะเป็นประโยขนต่อการพัฒนาขับเคลื่อนสถานศึกษาของตนเองต่อไป” รศ.ดร.สัมพันธ์.