จำนวนคนเร่ร่อน-คนไร้ที่พึ่ง ปี 60 ขยับเพิ่ม เหตุเศรษฐกิจครัวเรือนย่ำแย่ ขณะที่คนสูงอายุส่วนใหญ่ มาใช้ชีวิตในที่สาธารณะเพิ่มขึ้น เนื่องจากความจำเสื่อม พลัดหลง และไม่อยากเป็นภาระให้ครอบครัว ...
นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เปิดเผยถึง กรณีมูลนิธิอิสระชนแจงคนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง ซึ่งจากข้อมูลระบบสารสนเทศ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ที่สรุปสถานการณ์คนไร้ที่พึ่งไทยพบว่า ปัจจุบันมีคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ 70,539 คน และจากการที่นิธิอิสระชนได้สำรวจคนเร่ร่อนในเขตกรุงเทพฯ ปี 2559 จำนวน 3,455 คน ส่วนปี 2560 มีจำนวนที่ 3,630 คน โดยพื้นที่ที่มีคนเร่ร่อนมากที่สุด คือ เขตพระนคร เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ชีวิตอยู่ตามข้างถนนจำนวน 740 คน เพื่อแก้ปัญหาคนไร้ที่อยู่อาศัย ไร้ที่พึ่ง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้จัดโครงการการจัดระเบียบคนไร้ที่พึ่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
“สาเหตุปัญหาที่ทำให้จำนวนคนไร้ที่พึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาจาก ภาวการณ์ตกงาน/ไม่มีงานทำ อาการเจ็บป่วยทางจิตและกาย และไม่มีที่อยู่อาศัย ส่วนคนไร้ที่พึ่งซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และใช้ชีวิตในที่สาธารณะเพิ่มขึ้น มาจากสาเหตุโรคความจำเสื่อม ทำให้พลัดหลงจากบ้าน และไม่สามารถกลับบ้านได้ เศรษฐกิจของครอบครัว สมาชิกไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ ส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้สูงอายุ รู้สึกด้อยคุณค่า และผู้สูงอายุ ไม่ต้องการเป็นภาระของครอบครัว จึงออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน” นางนภา กล่าว
สำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตเงินอุดหนุนสงเคราะห์ นางนภา บอกว่า ส่วนกลางแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารเงินอุดหนุนสงเคราะห์ โดยให้คณะกรรมการฯ มีหน้าที่ กำหนดเกณฑ์การจัดสรรในกรณีปกติ/ฉุกเฉิน กำหนดวงเงินที่จัดสรร และกำหนดวิธีการในการติดตาม มาตรการการจ่ายเงินอุดหนุนสงเคราะห์ การพิจารณาช่วยเหลือรายกรณี/รายกลุ่ม แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองให้ความช่วยเหลือ ในลักษณะความร่วมมือแบบ One Home ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยการจ่ายเงิน 3 รูปแบบคือ โอนเข้าบัญชี สั่งจ่ายรูปแบบเช็ค และจ่ายเป็นเงินสด
...
กรณีผู้ประสบปัญหาทางสังคม ไม่สะดวกให้ถ่ายรูปให้เห็นจำนวนเงินที่มอบ และมีพยานที่เป็นบุคคลภายนอก กรณีที่จ่ายเงินสดเป็นกลุ่มใหญ่ ให้จ่ายในสถานที่ราชการ หรือในที่สาธารณะ โดยมีภาคี เครือข่ายเป็นพยาน มาตรการติดตามการจ่ายเงินอุดหนุน
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาในปี 2560 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการมีนโยบายดำเนินการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง โดยแบ่งออกเป็น 2 มาตรการ คือจัดระเบียบคนไร้ที่พึ่ง คนขอทานทั่วประเทศทุกเดือน และจัดชุดปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหา การขอทานและคนไร้ที่พึ่ง จัดระเบียบทุกเขตในพื้นที่กรุงเทพฯทุกเดือน นอกจากนี้ ยังได้ปิดช่อง ป้องกันคนไร้ที่พึ่ง และคนขอทาน ในพื้นที่เมืองสำคัญอาทิภูเก็ต อุดรธานี เชียงใหม่ รวมทั้งสมุทรปราการ.