สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ที่รัก เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เพิ่งผ่านพ้นวันแห่งความรักไปหมาดๆ ได้ไปฉลองเทศกาลหวานๆ แบบนี้ที่ไหนกันบ้างหรือเปล่าคะ สำหรับคุณครูลิลลี่ต้องบอกเลยว่าวาเลนไทน์หรือวันแห่งความรักปีนี้ คุณครูลิลลี่อยู่กับงานค่ะ ทั้งถ่ายรายการและเตรียมแผนการสอนสำหรับบรรดาลูกศิษย์ ก็ถือว่าเป็นเรื่องของความรักเหมือนกันนะคะ งานที่เรารักไงคะ ส่วนคุณๆ ที่เมื่อช่วงวันแห่งความรักที่ผ่านมา ไม่ได้ควงแขนแฟนหรือคนรักไปเที่ยวไหน คุณครูลิลลี่มาสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่มาแนะนำค่ะ ไม่ใกล้ไม่ไกลกลางกรุงเทพมหานครของเรานี่เลยค่ะ นั่นคือ งานอุ่นไอรัก คลายความหนาว ที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นระหว่างวันที่  8 กุมภาพันธ์ ถึง 11 มีนาคมนี้ ณ พระลานพระราชวังดุสิตและสนามเสือป่า โดยงานอุ่นไอรัก คลายความหนาวนี้ สามารถเข้าไปร่วมงานกันได้แบบไม่เสียค่าบัตรผ่านประตู ถือเป็นการมอบความสุขให้กับประชาชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวและศิลปวัฒนธรรมไทยค่ะ ซึ่งในงานนี้ทางคณะจัดงานก็รณรงค์ให้ผู้เข้าร่วมงานแต่งกายด้วยชุดไทยย้อนยุคในสมัยต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศแบบไทยๆ

สำหรับภายในงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว จะแบ่งเป็น 3 เขตพื้นที่  ได้แก่ เขตพื้นที่ของสนามเสือป่า จะเป็นบรรดาร้านค้าในพระบรมวงศานุวงศ์และร้านค้ารับเชิญ เช่น ร้านศิลปาชีพ 904, ร้านมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก ฯลฯ รวมทั้งมีการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้านและฉายหนังกลางแปลง อีกหนึ่งเขตพื้นที่จะเป็นพื้นที่ของร้านอาหารและร้านค้าตามแนวคิด “ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร สืบสานชุมชนวิถีไทย” ส่วนเขตพื้นที่ที่เป็นจุดใหญ่จุดสำคัญก็คือ บริเวณพระลานพระราชวังดุสิต จะมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของในหลวง รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 9 คุณผู้อ่านจะได้พบกับเรือสุพรรณหงส์จำลอง ที่รายล้อมไปด้วยสวนดอกไม้สวยราวกับภาพวาด เพราะได้รับการประดับตกแต่งด้วยดอกไม้นานาพันธุ์หลากสีสัน ด้านหลังพระบรมรูปทรงม้า ยังมีลานน้ำพุขนาดใหญ่จัดแสดงอยู่

...

พูดถึงคำว่า ดอกไม้นานาพันธุ์ ก็ทำให้นึกไปถึงคำว่า พันธุ์ไม้ กับ พรรณไม้ และพันธุ์พืช กับ พรรณพืช ที่มักจะมีผู้ใช้สับสนกันอยู่ว่า เมื่อใดใช้พรรณ เมื่อใดใช้พันธุ์ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ถ้าเราเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า พันธุ หรือ พันธุ์ เป็นคำนาม แปลว่า พวกพ้อง เชื้อสาย วงศ์วาน เทือกเถา เหล่ากอ หรือหมายถึง เชื้อ เช่น ข้าวเก็บไว้ทำพันธุ์ พันธุ์ข้าว เป็นต้น ส่วนคำว่า พรรณ เป็นคำนาม แปลว่า  สีของผิว หรือชนิด เช่น พรรณพืช พรรณไม้ พรรณสัตว์ ทีนี้เรามาดูความแตกต่างกันนะคะ มีหลักฐานในทางวิชาการระบุไว้ชัดเจนว่า (ขออนุญาตคัดลอกบางส่วนมาเป็นหลักฐานการใช้งานอย่างถูกต้องนะคะ) เกี่ยวกับเรื่องนี้เขาสรุปการใช้กันว่า คณะกรรมการจัดทำอนุกรมวิธานพืช แห่งราชบัณฑิตยสภา เลือกใช้คำว่า พรรณไม้ หรือ พรรณพืช ในกรณีที่หมายถึง ต้นไม้ชนิดนั้นๆ หรือพืชชนิดนั้นๆ แบบเฉพาะเจาะจง เช่น กระเช้าสีดาเป็นชื่อที่คนทั่วๆ ไปใช้เรียกพรรณไม้ในสกุล Aristolochia หรือ กระเช้าผีมดเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทยสามารถพบได้ทั่วไปในธรรมชาติ เป็นต้นค่ะ ส่วนคำว่า พันธุ์ นั้น ใช้เมื่อความในประโยคต้องการสื่อถึงเชื้อสาย วงศ์วาน และนิเวศวิทยาของพืชชนิดนั้นๆ เช่น เข็มแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ หรือ พันธุ์ข้าว๑๒๓ ใช้เป็นพันธุ์ปลูกในประเทศ เป็นต้นค่ะ

ทราบความแตกต่างของการใช้ พันธุ์ และ พรรณ กันไปแล้ว ก็ได้เวลาไปหาความสำราญจากการชื่นชมความงามอย่างไทยในบรรยากาศที่สวยงาม แล้วอย่าลืมเก็บภาพสวยๆ ด้วยการแต่งกายชุดไทยมาฝากกันบ้างนะคะ สวัสดีค่ะ

instagram : kru_lilly, facebook : ครูลิลลี่