ช่วงนี้ประเด็นหลงป่า กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ และถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอย่างล้นหลาม ทั้งความสำคัญของเสือในธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความสำคัญด้านเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ 'ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์' จะพาไปถอดสัญญะความสัมพันธ์ของเสือกับคนไทย แม้ว่าเราจะไม่ได้เข้าป่า ไปล่าสัตว์ แต่พวกเราคนไทยก็มีความผูกพันกับสัตว์ชนิดนี้อยู่มากพอสมควร
ในแง่ภาษาศาสตร์
เริ่มกันตั้งแต่ตัวอักษร ส.เสือ หากลองเปิดพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน ดูจะเห็นว่า เสือ ไม่ได้หมายความถึงสัตว์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีนัยอื่นแฝงอยู่ด้วย เช่น เสือ อาจจะหมายถึง จอมโจร, คนที่มีความเก่งกาจ, ปราดเปรียว ได้อีกด้วย เช่น เสืออากาศ (นักบินที่มีฝีมือเก่งกาจ) เสือภูเขา (จักรยาน) และยังรวมไปถึงสำนวนต่างๆ ในภาษาไทยอีกด้วย อาทิ เสือหิว, เสือปืนไว ซึ่งอาจจะต้องรีบเอาปืนไปคืนเพื่อน หรือ เสือนอนกิน เป็นต้น
ข้าวปลาอาหาร
หากจะถามว่า "อาหารอะไรทำมาจากเสือบ้าง?" เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะนึกถึง ตัวเดียวอันเดียวของเสือ หรือซุปหางเสือ รวมถึงเสียงลือเสียงเล่าอ้างเรื่องสรรพคุณบำรุงกำลังทางเพศให้สมชายชาตรี ซึ่งถ้าจะให้แนะนำก็คงจะไม่เหมาะสมนัก เพราะเรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากแพทย์แล้วว่า ขี้ตั๊วทั้งเพ!
...
นอกจากนี้ เสือเกือบทุกชนิดถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และชาวไทยส่วนใหญ่คงจะไม่ได้เข้าป่าล่าสัตว์กันเป็นกิจวัตร ดังนั้น หากต้องการกินเสือแบบไทยๆ แล้ว ขอแนะนำเป็นเมนู เสือร้องไห้ แซ่บๆ สักจานน่าจะดีกว่า เพราะคงทำให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้บ้านเรานอนหลับกันได้อย่างสนิทใจยิ่งขึ้น
ความเชื่อ-สิ่งลี้ลับ
เสือนั้นมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อของคนไทยมาอย่างช้านาน ดังจะเห็นได้จาก การสักยันต์และผ้ายันต์ อย่าง เสือเผ่น เสือเหลียวหลัง ฯลฯ หรือการนำชิ้นส่วนร่างกายของเสือมาทำเป็นเครื่องรางของขลัง เช่น เขี้ยว หนัง เป็นต้น ซึ่งมีข้อสังเกตว่า เสือ ในความเชื่อของคนไทยนั้น มักสื่อถึง อำนาจ บารมี เกียรติยศ เป็นส่วนมาก
แฟชั่น
นอกจากชุดหนังเสือโคร่งของบรรดาฤๅษี และร่างทรงแล้ว ลวดลายหนังเสือทั้งเสือดาวและเสือโคร่ง ก็ยังคงได้รับความนิยมในการออกแบบเครื่องแต่งกายและของใช้ต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และที่คนไทยคุ้นเคยมากที่สุดเห็นคงจะเป็นเครื่องแต่งกายของ คุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ราชินีนักร้องเพลงลูกทุ่งนั่นเอง
ประเพณีและการละเล่น
เด็กๆ หลายคนอาจจะรู้จักและเคยเล่น เสือข้ามห้วย หรือ เสือกินวัว กันมาบ้าง หรืออาจเคยรับชมการแสดงและการร่ายรำที่เรียกว่า กระตั๊วแทงเสือ กันมาแล้ว หรืออย่างในศิลปะการต่อสู้มวยไทยเองก็มีท่ารำที่ชื่อว่า ท่าเสือออกจากเหล่า อยู่ด้วยเหมือนกัน
นอกจากนี้ก็ยังมีศิลปวัฒนธรรมของไทยหลายอย่างที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสัตว์ชนิดนี้ เช่น การรำมวยโบราณท่าเสือออกจากเหล่า (ท่าที่ 1)
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า 'เสือ' ไม่ใช่เพียงแค่สัตว์ชนิดหนึ่งในป่า หากแต่เสือเป็นสัตว์ที่ผูกพันกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านภาษา อาหาร หรือประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เพียงแค่เสืออย่างเดียวเท่านั้น ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่มีความสำคัญกับรากวัฒนธรรมที่หล่อหลอมขึ้นมาแต่อดีต
ดังนั้นแล้ว จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่เราจะสามารถอนุรักษ์สัตว์ต่างๆ ทุกชีวิตเอาไว้ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึงแก่นหรือเบ้าของวัฒนธรรม ไม่ใช่เพียงแค่ชื่อเรียกและรูปภาพ เพราะสัตว์ทุกชนิดต่างมีชีวิตและความสำคัญเท่าเทียมกัน การจะไปตัดสินชะตาชีวิตของพวกมันด้วยเขม่าควันและเสียงปืนนั้น เป็นเรื่องที่มนุษย์สมควรกระทำหรือไม่ ?