รักๆเลิกๆ...เจ็บแต่จบ เลิกรากันด้วยดี เหตุเพราะรักจืดจาง...ไปด้วยกันไม่ได้...ไม่มีเวลาให้กัน ฉันหรือเธอมีคนใหม่ (ที่ดีกว่า)...ถ้าเป็นคู่รักดาราเซเลบคนดังก็เรื่องหนึ่ง เป็นข่าว “เตียงหัก” ให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ...สังคมวันนี้อาจมองเป็นเรื่องธรรมดา
หากแต่ถ้าเป็นชีวิตจริงคนส่วนใหญ่ “การเลิกรา”...“การหย่าร้าง” เป็นเรื่องใหญ่ และคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
พลิกแฟ้มสถิติการ “สมรส” และการ “หย่าร้าง” รอบ 10 ปี (2549-2559) ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า มีคู่สามีภรรยามาจดทะเบียนสมรสน้อยลงเรื่อยๆ ในปี 2559 จดทะเบียนสมรส 307,746 คู่ สวนทางกับตัวเลขคู่แต่งงานที่เข้ามาเซ็นใบหย่าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2559 มีผู้มาจดทะเบียนหย่า 118,539 คู่
เพิ่มขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 39 จากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว อัตราหย่าร้างอยู่ที่ร้อยละ 27 เท่านั้น
น่าสนใจว่า...อัตราการหย่าร้างในปี 2559 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าสูงถึง 33 เปอร์เซ็นต์
“หย่าร้าง” ดูจะเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ กรมสุขภาพจิตออกมาแนะนำถึงการใช้ชีวิตคู่ ปราการสร้างครอบครัวให้อบอุ่น ด้วยการยึดกฎเหล็ก “5 ข้อที่ต้องทำ 8 คำที่ห้ามใช้”...
...
5 ข้อที่ต้องทำ...หนึ่ง ร่วมกันสร้างกฎของครอบครัวที่ทุกคนยอมรับและปฏิบัติได้...สอง เมื่อมีปัญหาต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไข อย่าคิดว่าเป็นปัญหาของคนใดคนหนึ่ง...สาม โต้เถียงกันได้เป็นเรื่องธรรมดาของครอบครัว แต่ต้องไม่ตะคอก ข่มขู่ หรือยั่วโมโหอีกฝ่าย
ข้อที่สี่... เมื่อต่างฝ่ายต่างรู้ตัวว่าเริ่มมีความโกรธเพิ่มขึ้น ให้เตือนสติตัวเอง หยุดพูด เมื่อมีความพร้อมจึงกลับมาพูดกันใหม่ และ ห้า เมื่อพร้อมที่จะแก้ปัญหาควรหันหน้ามาร่วมกันปรึกษา หาทางแก้ไข และประการสำคัญต้องไม่ดูถูกความคิดของอีกฝ่าย
ส่วน “8 คำพูดที่ห้ามใช้” มีว่า...คำสั่งเผด็จการ เงียบไปเลย!...
อย่าทำอย่างนี้สิ?, คำพูดประชดประชัน เปรียบเทียบ หรือพูดถึงปมด้อย ...ก็เพราะเป็นซะแบบนี้ ถึงได้ดักดานอยู่แค่นี้ ถ้าแต่งงานกับแฟนเก่า...ป่านนี้คงสบายไปแล้ว, คำพูดท้าทาย...ถ้าแน่จริงก็เก็บของออกไปเลย...พูดแบบนี้ก็เลิกกันไปเลยดีกว่า
คำพูดเอาชนะกัน...ที่มีปัญหาอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะแกนั่นแหละ... เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของฉัน, คำพูดที่ขุดคุ้ยเรื่องเก่ามาพูดซ้ำ...บอกกี่ทีๆก็ไม่เชื่อ ครั้งที่แล้วก็แบบนี้...อยู่กินกันมา 10 ปีไม่เห็นเธอทำอะไรสำเร็จสักอย่าง, คำพูดเชิงกล่าวหา กล่าวโทษ...อย่ามาอ้างว่าติดประชุม ติดเด็กน่ะสิ
คำพูดหยาบคาย, คำพูดล่วงเกิน...พูดดูถูกเหยียดหยามบุพการี ญาติพี่น้องของอีกฝ่าย คำพูดที่กล่าวมานี้ย่อมมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด การกระทำ...ก่อให้เกิดความรู้สึกด้านลบ เช่น โกรธ ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจกันทั้งสองฝ่าย
เปิดคัมภีร์ “ชีวิตคู่”...กับการจัดการความขัดแย้ง จากหนังสือครอบครัวต้องมาก่อน กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 2559 ทิ้งน้ำหนักให้สาระสำคัญบางเรื่องก็คล้ายกัน บางเรื่องก็เสริมกัน ด้วยหลักหลายๆ “อย่า”
เริ่มจาก...อย่าใช้วิธีเดือด...อย่าใช้วิธีการดูถูกดูหมิ่น ตำหนิ เยาะเย้ย หรือโจมตี...อย่าใช้วิธีการรุนแรงต่อกัน...กรณีที่หากไม่สามารถระงับความโกรธได้ ให้ “หยุด”...แล้วค่อยคุยกัน
“อย่า”...รอให้ “เขา” หรือ “เธอ” มาง้อ...รับรู้และนับถือความรู้สึกของอีกฝ่าย
ที่สำคัญให้ระวังอย่าทำสิ่งเหล่านี้...เงียบ เพิกเฉย งอน, ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่, ใช้ความรุนแรง, ออกนอกบ้าน, ดื่มเหล้า, นอกใจ คบชู้, งดการมีเซ็กซ์และท้าหย่า
ให้รู้ไว้ว่าถึงแม้ว่า “ความโกรธ” จะทำหน้าที่บางอย่าง แต่ความโกรธก็ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดี ตรงกันข้ามจะส่งผลลบมากกว่าหากควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ดีพอ ฉะนั้นเมื่อใดที่รู้สึกโกรธควรหาเวลาพูดคุยให้เข้าใจ
อย่าได้ปล่อยให้ความโกรธติดค้างอยู่ในใจ...ให้อภัยกัน จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด
“หากการแต่งงานทำให้เกิดความรู้สึกมากมายผสมผสานกัน ทั้งความโกรธ ความผิดหวัง ความเสียใจ และรู้สึกถูกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมจนเกิดความรู้สึกขมขื่น ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม...คุณต้องขจัดความรู้สึกนี้ออกไปให้เร็วที่สุด”
“อดทน” และ “ยกโทษ”...มองสิ่งดีในอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่จดจำความผิด ไม่รื้อฟื้นอดีต และขอโทษถ้าทำผิด
กรณีคู่สมรสที่มีความขมขื่นติดต่อกันมาเป็นเวลานาน วิธีการที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้อาจช่วยให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นมาบ้าง นับหนึ่งจาก...ปรับความเข้าใจโดยหาเวลาคุยกันเงียบๆตามลำพัง พูดคุยอย่างอิสระไม่ตัดสินถูกผิด การพูดออกมาโดยปราศจากทิฐิ ไม่ถือดีและไม่เอาชนะกัน จะทำให้มีการเปิดใจรับฟังกันมากขึ้น
ถัดมา...ขอโทษหากรู้สึกผิด การขอโทษจะทำให้บรรยากาศดีขึ้น เพราะทุกคนอาจทำผิดกันได้ การยอมรับว่าผิดและกล่าวคำ “ขอโทษ” ถือเป็นความกล้าหาญที่แท้จริง อาจทำให้อีกฝ่ายขอโทษกลับด้วย
จากนั้น...ให้บอกความคาดหวัง ความต้องการอย่างตรงไปตรงมาว่าอะไรที่ทำให้คุณทั้งสองรู้สึกดีขึ้น อะไรที่ทำให้การใช้ชีวิตคู่ได้อย่างราบรื่น
สุดท้าย...พยายามร่วมมือกันทำสิ่งต่างๆให้ดีขึ้น และบอกอีกฝ่ายไปตรงๆเลยว่า คุณจะพยายามทำอะไรเพื่อให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น จำเอาไว้ว่า...การบอกตรงๆจะช่วยสร้างความรู้สึกที่ดีได้ แสดงให้เห็นความจริงใจต่อการแก้ปัญหา
“การมีเวลาอยู่ด้วยกันตามลำพังช่วยได้มาก การเปลี่ยนบรรยากาศด้วยการหาเวลาไปเที่ยวพักผ่อนต่างจังหวัดด้วยกันบ้าง จะเป็นช่วงเวลาที่ดีในการทบทวนเรื่องราว...การใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่ผ่านๆมา”
“ความโกรธ”...หนึ่งในตัวแปรสำคัญ หากถามว่าทำไม? ถึงโกรธ คำตอบส่วนใหญ่คือเพราะมีความรู้สึกบางอย่างที่ทำให้ไม่พอใจ เช่น ความรู้สึกเจ็บปวด รู้สึกถูกทำร้าย ถูกปฏิเสธ ถูกตำหนิ รู้สึกกลัว รู้สึกอึดอัดใจ ฯลฯ
นักวิชาการระบุว่า หากวิเคราะห์ให้ดีจะพบว่า แท้ที่จริง “ความโกรธ” ได้ทำหน้าที่ในหลายๆอย่าง ได้แก่ ต้องการควบคุมระยะของความสัมพันธ์... ระยะใกล้...ห่าง หากห่างเหินกันมาก ความโกรธเพราะต้องการให้เข้ามาใกล้ แต่หากอยู่ใกล้ชิดกันจนอึดอัด การโกรธเพื่อทำให้เว้นระยะห่างมากขึ้น
นอกจากนี้ ความโกรธยังช่วยทดสอบความรักของอีกฝ่ายว่ายังคงมั่นคงอยู่หรือไม่...แสดงอำนาจเพื่อควบคุมอีกฝ่าย...เป็นการปกป้องตนเอง เพื่อหยุดการกระทำของอีกฝ่าย...รักษาความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ให้อีกฝ่ายก้าวล้ำมากเกินไป...กลบเกลื่อนความรู้สึกในขณะที่กำลังอ่อนแอ...เรียกร้องความสนใจ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม แม้ความโกรธจะทำหน้าที่ไปแล้ว แต่ก็ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดี ตรงกันข้ามจะส่งผลลบมากกว่า...คู่รัก...คู่ชีวิตแต่ละคู่จึงควรที่จะมีเทคนิคในการบริหารจัดการกับความขัดแย้งที่จะก่อตัวสร้างความโกรธ
“ทุกคนมีความแตกต่างกัน การแก้ปัญหาจึงสำคัญที่ว่า...คุณจะสามารถจัดการกับความขัดแย้งหรือความแตกต่างได้อย่างมีศิลปะหรือไม่...และอย่างไร?”
ศึกษาหาคำตอบให้ตรงกัน...คิดไม่ตรงกันเรื่องใดคุยกันตรงไปตรงมา แก้ปัญหาร่วมกัน...“ชีวิตคู่” เมื่อใช้ไปอาจขัดแย้ง เข้าใจผิดได้อยู่เสมอ...แปรปัญหาให้เป็นโอกาสเดินหน้าไปสู่ “ความสุข” ด้วยกัน.