ราคาขายไข่ไก่หน้าฟาร์มเฉลี่ยอยู่ที่ฟองละ 2.10-2.20 บาท ในขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงเฉลี่ยอยู่ที่ฟองละ 2.80-2.90 บาท ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ประสบปัญหาขาดทุนสะสมมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 1 ปี

ที่ผ่านมาแม้ภาครัฐมีมาตรการขอความ ร่วมมือให้ลดการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ให้เหลือ 600,000 ตัว และปลดแม่ไก่ยืนกรงให้เร็วกว่ากำหนดแล้วก็ตาม แต่ปริมาณไข่ไม่ลดปริมาณลงมาเลย สาเหตุหลักมาจากมาตรการดังกล่าว ไม่ได้รับความร่วมมืออย่างจริงจัง โดยเฉพาะปัญหาต้นน้ำ มีการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์เกินกว่าที่ขอความร่วมมือ นำเข้ามากถึง 610,000 ตัว

ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือเอ้กบอร์ด (Egg Board) มีมติให้ทุกบริษัทลดการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ในปี 2561 ตามสัดส่วนให้เหลือปีละ 550,000 ตัว พร้อมกับให้เกษตรกรและสมาคมฯ เร่งปลดแม่ไก่ยืนกรงก่อนกำหนด จากที่เคยเลี้ยงนาน 80 สัปดาห์ ให้เหลือ 70 สัปดาห์ เพื่อลดจำนวนแม่ไก่ยืนกรงก่อนเวลาให้ได้ 2 ล้านตัว

มาโนช
มาโนช

...

นายมาโนช ชูทับทิม ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรเลี้ยงไก่ไข่ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิเอ้กบอร์ด ให้ความเห็นในฐานะผู้เลี้ยงไก่ไข่มากว่า 30 ปี ว่า ขอสนับสนุนมาตรการลดการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ของคณะกรรมการเอ้กบอร์ด หากทำได้จริงจะช่วยสร้างความสมดุลของการผลิตไข่ไก่และความต้องการบริโภค

“การลดนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่เป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพ เพราะจะเป็นการควบคุมให้ผลผลิตไข่เหมาะสมกับการบริโภคตั้งแต่ต้นทาง แม้มาตรการนี้กว่าจะเห็น ผลต้องใช้เวลานานถึง 10 เดือน แต่เมื่อดำเนินการควบคู่กับการปลดแม่ไก่ยืนกรง เชื่อว่าจะช่วยลดผลกระทบจากปัญหาราคาไข่ไก่ได้อย่างแน่นอน จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยดำเนินตามมาตรการของเอ้กบอร์ดด้วย เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่อยู่ได้และสร้างความยั่งยืนแก่อุตสาหกรรมการผลิตไข่ไก่ของไทย”

สุเทพ
สุเทพ

ด้าน นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไข่ไก่ภาคใต้ กล่าวเสริมว่า การคุมนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่เป็นแนวทางที่ดี เพราะเป็นการแก้ปัญหาต้นทางจะช่วยลดลูกไก่ที่จะเป็นแม่ไก่ลงได้ ขณะเดียวกันผลจากการที่ผู้เลี้ยงไก่ภาคใต้ให้ความร่วมมืออย่างดีกับเอ้กบอร์ด เร่งปลดแม่ไก่ยืนกรงอายุตั้งแต่ 70 สัปดาห์ขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง วันนี้เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีว่าปริมาณไข่ไก่ในภาคใต้ออกสู่ตลาดลดลงได้จริง.