ประเทศไทยตั้งอยู่ในแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพที่มีความสำคัญสูงสุด 8 อันดับแรกของโลก และสูงเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน
แล้วรู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยมีพืชไม่น้อย กว่า 12,000 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 8 ของพืชที่คาดว่ามีอยู่ในโลก
และรู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยมีจุลินทรีย์ราว 150,000-200,000 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 5-6 ของจุลินทรีย์ที่คาดว่ามีอยู่ในโลก
แต่น่าเสียดายที่ความสมบูรณ์ทางธรรมชาติของประเทศไทยกำลังหมดลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีพืชกว่า 1,400 ชนิด ที่อยู่ในภาวะถูกคุกคามและมีสมุนไพร 1,131 ชนิดอยู่ในภาวะหายากแล้ว
ทั้งที่น่าวิตกไปกว่านั้น คือ พืชอาหารหลักหลายชนิดใกล้จะสูญพันธุ์ เช่นเดียวกับทรัพยากรชีวภาพ ทั้งในรูปแบบสิ่งมีชีวิต อาทิ จุลินทรีย์ ไวรัส เชื้อรา เมล็ดพันธุ์ เซลล์ เป็นต้น และในรูปแบบของคลังข้อมูลดิจิทัล ของยีนของสิ่งมีชีวิตต่างๆที่ได้จากการศึกษา สาเหตุเพราะประเทศไทยยังไม่เคยมีการเก็บรวบรวมทรัพยากรชีวภาพอย่างเป็นระบบ ส่วนที่มีอยู่ในธรรมชาติก็ถูกคุกคาม ทั้งจากการกระทำของมนุษย์และจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
...
“ขณะนี้อัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นประมาณ 20-70 ชนิดต่อวัน ขณะที่อัตราการค้นพบเพียง 1 ชนิดต่อสัปดาห์ หรืออัตราการค้นพบช้ากว่าถูกทำลายราว 100-500 เท่าตัว ถ้าปล่อยให้ทรัพยากรชีวภาพถูกคุกคามหรือถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ ก็จะไม่มีเหลืออยู่อีกต่อไปในระยะอันใกล้ อย่าลืมว่าทรัพยากรชีวภาพไม่ได้มีในทุกประเทศ แต่ประเทศไทยโชคดีที่ตั้งอยู่ในดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำในเขตใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้มีอุณหภูมิและความชื้นพอเหมาะกับการเกิดจุลินทรีย์ ไวรัส เชื้อรา เมล็ดพันธุ์ เซลล์ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งควบคุมศัตรูพืช กำจัดแมลง นำไปใช้ในวงจรอาหาร จนสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมากมายมหาศาล เฉพาะแค่สมุนไพรในปี 2559 ที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยจากการส่งออกสูงถึง 28,000 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อให้ทรัพยากรชีวภาพของประเทศไม่สูญหายไป สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงเสนอให้มีการจัดตั้ง “ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ” หรือ “ไบโอแบงก์” เพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านความมั่นคงของประเทศ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผอ.สวทช. กล่าวถึงความจำเป็นในการตั้งไบโอแบงก์
โดย ไบโอแบงก์ จะเก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพไว้นอกสภาพธรรมชาติ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียจากภัยพิบัติจากการกระทำของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ที่สำคัญไบโอแบงก์ยังจะทำหน้าที่ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานำไปสู่การเกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่สำคัญ ในกลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) ซึ่งคาดว่ามูลค่าอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพที่เพิ่มขึ้นจากการมีไบโอแบงก์มีมูลค่ากว่า 43,500 ล้านบาท จากอุตสาหกรรมสมุนไพรโปรไบโอติกส์ อาหารเสริมสุขภาพ อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ 5,000 ล้านเคมีชีวภาพ และเอนไซม์ และสำคัญเหนืออื่นใด คือ ไบโอแบงก์จะทำหน้าที่พิทักษ์สมบัติของชาติ
“ไบโอแบงก์ในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น เป็นนวัตกรรมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมการเก็บรักษาสิ่งมีชีวิต ยีนของสิ่งมีชีวิต และข้อมูลสิ่งมีชีวิตที่มีประสิทธิภาพ สามารถคงความมีชีวิตไว้ได้ยาวนาน ประหยัดพื้นที่และแรงงานในการดูแลเก็บรักษา นอกจากนี้ ไบโอแบงก์ในต่างประเทศมีระบบรับฝาก และระบบการเข้าถึงที่เอื้อต่อการวิจัยพัฒนาและการใช้ประโยชน์ที่ทำได้ ง่าย และได้ครบทั้งวัสดุชีวภาพและข้อมูลจากแหล่งเดียวแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งช่วยเสริมมาตรการควบคุม ติดตามการใช้ทรัพยากรชีวภาพ และมีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของประเทศและสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของสหประชาชาติ และพิธีสารนาโงยา ที่ปัจจุบันกำลังมีการจัดทำร่างมาตรฐานในระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับ ไบโอแบงก์ ซึ่งต่อไปอาจจะมีการใช้มาตรฐานเหล่านี้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น การมีไบโอแบงก์จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการปกป้องทรัพยากรชีวภาพของประเทศที่สามารถนำไปพัฒนาในเชิงการค้าต่อได้” ผอ.สวทช.กล่าว
ในส่วนของประเทศไทย ไบโอแบงก์จะทำหน้าที่เก็บรักษาทรัพย์สินของประเทศ ใน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านทรัพยากรชีวภาพทั้งในรูปแบบสิ่งมีชีวิต เช่น จุลินทรีย์ ไวรัส เชื้อรา เมล็ดพันธุ์ เซลล์และในรูปแบบของคลังข้อมูลดิจิทัลของยีนของสิ่งมีชีวิตต่างๆที่ได้จากการศึกษาข้อมูลพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตมาไว้ในที่เดียวกัน ในรูปแบบธนาคารจุลินทรีย์ 2.ด้านเมล็ดพันธุ์ ทั้งที่มีเมล็ดและไม่มีเมล็ด ในรูปแบบธนาคารเมล็ด พันธุ์ และ 3.ด้านยีน ในรูปแบบธนาคารยีน
“ทีมข่าววิทยาศาสตร์” มองว่า การตั้งไบโอแบงก์ เป็นเรื่องที่ดีเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ในภาคอุตสาหกรรม เกษตร พลังงาน สุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทยในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
ก่อนที่ประเทศไทย...จะไม่เหลืออะไรเป็นสมบัติของชาติเลย.
ทีมข่าววิทยาศาสตร์