ล้อมคอก...เพชฌฆาตร้าย

มะเร็ง!!!

เพชฌฆาตร้าย...คร่าชีวิตประชากรโลก จนสร้างความหวาดหวั่นให้กับทุกคน และไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจนก็ล้วนแล้วแต่ไม่อยากให้คนในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็ง

แต่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุถึงสถานการณ์โรคมะเร็ง ที่ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขของประชากรทั่วโลก ซึ่งเปิดเผยข้อมูลล่าสุดปี 2015 หรือ พ.ศ.2558 เกี่ยวกับสถานการณ์โรคมะเร็งในเอเชียแปซิฟิก ระบุพบประชากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกป่วยด้วยโรคมะเร็งถึง 3 ล้านคน และในจำนวนนี้มีถึง 2 ล้านคน ที่ต้องสังเวยชีวิตด้วยโรคร้ายนี้ ทั้งจากการคาดการณ์ภายในปี 2035 หรือ พ.ศ.2578 จะมีประชากรทั่วโลกกว่า 14 ล้านคน เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง นั่นยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความน่ากลัวของโรคมะเร็ง

สำหรับ สถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยจะพบว่า โรคมะเร็งตับคร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด โดยปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคมะเร็งตับมากเป็นอันดับหนึ่ง เกิดจากคนไทยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบซีและไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังสูง แม้ปัจจุบันการป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซีและตับอักเสบบี จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะมีวัคซีนช่วยในการป้องกันและมีการรักษาโรคไวรัสตับที่ดีขึ้น แต่โรคมะเร็งในภาพรวมก็ยังถือเป็นสาเหตุการคร่าชีวิตของประชาชนชาวไทยเป็นอันดับหนึ่ง

...

ความสูญเสียจากโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่วงการสาธารณสุขไม่อาจมองข้ามได้ และต้องเร่งวางแนวทางการป้องกัน ทั้งการให้ความรู้กับประชาชน และการค้นคว้าวิจัยเพื่อหาแนวทางการรักษาให้กับประชากรได้พ้นทุกข์จากโรคร้าย

ทีมข่าวสาธารณสุข มีโอกาสร่วมเดินทางไปสังเกตการณ์ ในเวทีเสวนาการเปลี่ยนแปลงของโรคมะเร็งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีการฉายภาพรวมของโรคมะเร็งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และอนาคตการรักษาโรคมะเร็ง ที่ประเทศสิงคโปร์

นางชี ฮิว
นางชี ฮิว

นางชี ฮิว (Chee Hew) ผอ.อาวุโสหน่วยวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เล่าถึงภาพรวมของโรคมะเร็งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ว่า โรคมะเร็งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะ มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ และมะเร็งเต้านม ขณะที่โรคมะเร็งสามารถแยกย่อยได้มากถึง 250 ชนิด โดยเซลล์ต้นกำเนิดโรคมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ผู้ป่วยแต่ละรายจึงมีความน่าจะเป็นที่จะตอบสนองต่อยาและการรักษาแบบพุ่งเป้าได้ต่างกัน ดังนั้น ในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาเทคนิคในการตรวจหาตัวชี้วัดทางชีวภาพ เพื่อตรวจหาลักษณะจำเพาะของเซลล์มะเร็งที่อยู่ในร่างกาย

“โรคมะเร็งกว่า 70% ต้องการการรักษาแบบผสมผสาน ทั้งการรักษาด้วยการให้คีโม การผ่าตัด การให้ยามุ่งเป้า การเพิ่มภูมิคุ้มกัน เป็นต้น แต่ในทางวงการแพทย์และเภสัช ก็ตระหนักว่าการรักษาแบบยาตัวเดียวรักษาทุกโรคยังไม่เพียงพอ เพราะผู้ป่วยแต่ละคนมีความแตกต่างกันของตัวโรค และมีมะเร็งเพียง 5–10% เท่านั้น ที่ถ่ายทอดจากพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว เพราะมะเร็งส่วนใหญ่เกิดจากทั้งพันธุกรรมและปัจจัยสิ่งแวดล้อมรวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการรับประทานอาหาร ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการป้องกันและค้นหารอยโรคให้พบตั้งแต่เนิ่นๆ โดยประเทศที่มีระบบการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่ดี ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย ไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้” นางชี ฮิว ขยายภาพถึงความตระหนักในการค้นหาโรคมะเร็ง

ดร.เดอร์เฮน วอง-ไรเกอร์
ดร.เดอร์เฮน วอง-ไรเกอร์

ขณะเดียวกัน ดร.เดอร์เฮน วอง-ไรเกอร์ (Durhane Wong-Rieger, PhD) ประธานสภาโรคหายากระหว่างประเทศ ได้ขยายภาพการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในอนาคตว่า จากข้อมูลเชิงลึกทางชีววิทยาของโรคมะเร็งแต่ละประเภทมีการเติบโตที่แตกต่างกัน และจากพัฒนาการทดสอบในระดับโมเลกุลเพื่อประเมินโรคมะเร็ง ซึ่งจากการปฏิบัติการทางการแพทย์ทำให้พบว่า แนวทางการรักษาโรคมะเร็งแบบใหม่ในอนาคต มีแนวโน้มที่จะเป็นการรักษาแบบจำเพาะบุคคลมากขึ้น ทำให้รักษาได้อย่างตรงจุดและเห็นผลเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังช่วยให้ผู้ป่วยได้ประหยัดค่ารักษา เนื่องจากผู้ป่วยสามารถได้รับยาที่ตรงกับโรค ไม่ต้องเสียโอกาสในการรักษาแบบลองผิดลองถูก ทั้งนี้ ในการเดินทางของโมเลกุลสู่ยาใช้เวลาประมาณ 12 ปี หรือใช้เวลาทำงานถึง 700,874 ชั่วโมง ผ่านการทดสอบทดลอง 6,587 ครั้ง ใช้นักวิจัย 423 คน ถึงจะออกมาเป็นยา 1 ตัว เพราะสิ่งสำคัญคือต้องเน้นที่ความปลอดภัยของผู้ป่วยและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย

ทีมข่าวสาธารณสุขมองว่า การออกมาเปิดเผยภาพรวมของโรคมะเร็งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี้ จะเป็นอีกแรงผลักดันที่ช่วยกระตุ้นเตือนให้ประชาชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เกิดความตื่นตัวในการป้องกันโรคและตระหนักถึงความน่ากลัวของเพชฌฆาตร้ายอย่างโรคมะเร็ง และนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนา และอาจถึงขั้นกำหนดเป็นนโยบายการดูแลรักษาโรคมะเร็งระดับชาติ รวมถึงการส่งเสริมด้านการวิจัย

แต่สิ่งที่เราอยากฝากคือการค้นคว้าวิจัยต้องละเอียดรอบคอบ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก และถึงแม้ในอนาคตอันใกล้เราจะพบแนวทางการรักษาโรคมะเร็งแบบจำเพาะบุคคล ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตและประหยัดค่ารักษาพยาบาลได้ก็ตาม แต่เรื่องการให้ความรู้ เรื่องการป้องกันและเพิ่มโอกาสในการตรวจคัดกรองก็ไม่ควรมองข้าม

เพราะโรคมะเร็งยิ่งพบเร็วเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตมากขึ้นเท่านั้น.

ทีมข่าวสาธารณสุข