ไม่ได้มีแต่โชคชะตาพยากรณ์! เปิดข้อมูลพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพปี 2561 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งการไม่มีโรค ไม่เจ็บ ไม่ป่วย นับเป็นลาภอันประเสริฐ...
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า 2560 ต้อนรับปีใหม่ 2561 ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข การเฉลิมฉลอง ปาร์ตี้สังสรรค์ พบปะครอบครัวญาติพี่น้อง และเดินทางของใครหลายๆ คน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหนๆ ปีเก่า หรือปีใหม่ การไม่มีโรคย่อมเป็นลาภอันประเสริฐจริงแท้แน่นอน
ทั้งนี้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หรือ สธ. ได้ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพปี 2561 โดยระบุมี 7 โรค 2 ภัยสุขภาพที่จะต้องเฝ้าระวังในปี 2561 โดยกรมควบคุมโรคใช้วิธีวิเคราะห์จำนวน และช่วงเวลาการเกิดโรคต่างๆ เพื่อคาดการณ์แนวโน้มของการเกิดโรคและนำมาพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญในปี 2561 เพื่อได้เฝ้าระวังโรคที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย
...
เบื้องต้นพบว่า ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในปี 2561 มี 7 โรค ได้แก่ 1.ไข้เลือดออก 2.ไข้หวัดใหญ่ 3.มือ เท้า ปาก 4.ตาแดง 5.อาหารเป็นพิษ 6.ไข้ฉี่หนู และ 7.เมลิออยโดสิส โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ที่คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงถึง 220,000 ราย โดยพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล จังหวัดขนาดใหญ่และจังหวัดที่มีการ เคลื่อนย้ายประชากรสูง
สำหรับภัยสุขภาพที่สำคัญมี 2 เรื่อง ได้แก่ 1.บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรในช่วง เทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ 2.ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจในช่วงปัญหาหมอกควันภาคเหนือตอนบน
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า เทศกาลปีใหม่ 2560 พบผู้บาดเจ็บทุกกรณี 28,504 ราย เสียชีวิต 553 ราย ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 คาดว่าจะมีผู้บาดเจ็บ 27,000 ราย ผู้เสียชีวิตประมาณ 450 ราย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560 พบผู้บาดเจ็บทุกกรณี 28,795 ราย เสียชีวิต 466 ราย เมื่อคาดการณ์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561 คาดว่า ผู้บาดเจ็บจะใกล้เคียงปี 2560 ประมาณ 28,000 ราย เสียชีวิตประมาณ 420 ราย สิ่งสำคัญอยากให้ระมัดระวังเรื่องการใช้สมาร์ทโฟนระหว่างเดินทางขับขี่ยานพาหนะ เพราะเสี่ยงก่ออุบัติเหตุมากที่สุด
2.การป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจในช่วงปัญหาหมอกควันภาคเหนือตอนบน ทั้งนี้ ผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน โรคปอดบวม/ปอดอักเสบ ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน การคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยในเดือน ม.ค.-เม.ย. 2561 จะมีผู้ป่วย 56,000-90,000 ราย ประชาชนและผู้ที่มีโรคประจำตัวในพื้นที่เสี่ยงจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการพยากรณ์โรคปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกประมาณ 50,000 ราย ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ส่วนการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยง จะวิเคราะห์จากพื้นที่ที่ระบาดซ้ำซากใน 5 ปี พบว่า จะมีพื้นที่เสี่ยง 135 อำเภอ ใน 35 จังหวัดทั่วประเทศ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ตาก นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี กรุงเทพฯ พบในทุกพื้นที่ เป็นต้น จึงขอชวนประชาชนร่วมกันกำจัดยุงลายตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ
1.เก็บบ้าน 2.เก็บขยะ และ 3.เก็บน้ำ เพื่อป้องกันไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และติดเชื้อไวรัสซิกา
2.โรคไข้หวัดใหญ่ พยากรณ์โรคในปี 2561 คาดว่า จะมีผู้ป่วยประมาณ 220,000 ราย จึงขอให้ประชาชนใช้มาตรการ ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ 1.ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม 2.ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ 3.เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย 4.หยุด คือ เมื่อป่วยควรหยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด
สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์จะเปลี่ยนแปลงไป แต่ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ และไม่ได้รุนแรง คาดการณ์ว่าสายพันธุ์ B น่าจะมากขึ้นในปี 2561
นพ.นคร กล่าวต่อว่า ส่วนข้อ 3.โรคมือ เท้า ปาก พยากรณ์โรคปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 94,000 ราย วิธีป้องกันคือรักษาความสะอาดร่างกาย หมั่นล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน
4.โรคตาแดง พยากรณ์โรคปี 2561 คาดว่า จะมีผู้ป่วยประมาณ 146,000 ราย 5.โรคอาหารเป็นพิษ พยากรณ์โรค ปี 2561 คาดว่า จะมีผู้ป่วยประมาณ 100,000 ราย 6.โรคไข้ฉี่หนู พยากรณ์โรคปี 2561 คาดว่า จะมีผู้ป่วยประมาณ 5,000 ราย จึงขอแนะนำประชาชนว่าให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะ เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำหรือดินโดยตรง
และ 7.โรคเมลิออยโดสิส เกิดจากเชื้อแบคทีเรียไปทำลายเนื้อเยื่อหรือปอด ทำให้เกิดการติดเชื้อในร่างกาย หรือเลือด พยากรณ์โรคปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 3,000 ราย โรคนี้น่าเป็นห่วง เพราะพบอัตราการป่วยไม่มาก แต่พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตสูงประมาณ 20-30% เนื่องจากเมื่อป่วยแล้วมักจะมีอาการรุนแรง
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในปี 2561 มี 7 โรคที่สำคัญ แต่มี 4 โรคที่พบว่าผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น คือ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคตาแดง โรคมือ เท้า ปาก และโรคฉี่หนู ทั้งนี้ตัวเลขจริงอาจมากกว่านี้ หากมีการรายงานตัวเลขเข้มข้นขึ้น สำหรับปีหน้าแม้จะพยากรณ์ว่าผู้ป่วยอาจอยู่ที่ 220,000 คน แต่ความเป็นจริงอาจไม่ถึงก็เป็นได้.