แฉออกเอกสารปากนํ้า รอนานกว่าสมุทรสาคร

“อดุลย์” ลุยตลาดทะเลไทย จ.สมุทรสาคร ขันนอตพิสูจน์สัญชาติต่างด้าว ขอ 2 สัปดาห์ เคลียร์ปัญหาทำงานอืด พร้อมวางระบบป้องกัน “ค่าหัวคิว” ค้ามนุษย์และทำประมงผิดกฎหมาย พบต่างด้าวยังรอคิวตรวจสัญชาติทั่วประเทศกว่า 1 ล้านคน หวั่นไม่ทันเส้นตาย 180 วันชะลอโทษ จ่อชง ครม.ขยายเวลาถึง 31 มี.ค.61 ขณะที่ศูนย์ตรวจโรค รพ.สมุทรสาคร ผวา “โรคเท้าช้าง” ที่หายไปจากไทย หลังพบแรงงานต่างด้าวป่วย ในอัตราส่วน 10 คนต่อ 2 หมื่นคน ติดเชื้อซิฟิลิส 200 คนต่อ 1 หมื่นคน รวมถึงโรคหัวใจพบป่วยมากขึ้น เพราะขอใช้สิทธิประกันสังคม รักษาฟรี

หลังจากเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานได้ไม่กี่วัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน พร้อมด้วย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน เดินทางเข้าตรวจการทำงานของศูนย์พิสูจน์สัญชาติ 2 แห่ง คือที่ศูนย์ออกเอกสารรับรองบุคคลสัญชาติเมียนมาและศูนย์บริการเพื่อการทำงานของคนต่างด้าว ที่ตลาดทะเลไทย และที่ภัตตาคารนิวเฟรนด์ จ.สมุทรสาคร ที่มีปัญหาล่าช้า เพื่อปรับระบบการทำงานให้ลื่นไหลรวดเร็วเสร็จทันกำหนดวันที่ 31 มี.ค.61 โดยมีนายประภัสสร์ มาลากาญจน์ ผวจ.สมุทรสาคร และนายโม ออง ไข่ ทูตแรงงานเมียนมาประจำประเทศไทย ร่วม ตรวจดูการออกเอกสารรับรองบุคคล (CI) ของทางการเมียนมา การตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพโดยกระทรวงสาธารณสุข การตรวจลงตราวีซ่าของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และการออกใบอนุญาตทำงาน โดยกรมการจัดหางาน จากนั้นได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออก เรือประมงจังหวัดสมุทรสาคร (PIPO) องค์การสะพานปลา และตรวจดูหนังสือประจำตัวลูกเรือประมง ส.รุ่งอรุณนาวี พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ให้เน้นการทำงานรวดเร็ว ลดขั้นตอน และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

...

จากนั้น พล.ต.อ.อดุลย์ให้สัมภาษณ์ว่า ศูนย์ออกเอกสารซีไอแรงงานเมียนมาทั้ง 2 แห่ง ใน จ.สมุทรสาคร ในภาพรวมมีการดำเนินการดีกว่าที่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งการออกเอกสารต้องรอนานถึง 13 ชั่วโมง ส่วนที่นี่มีการตรวจสัญชาติวันละ 1 พันคน ซึ่งต้องปรับระบบเพื่อให้ทำได้มากขึ้นถึง 1.5 พันคน หลังจากนี้จะมีการประชุมวางรูปแบบเพื่อให้ทั้ง 9 ศูนย์ทั่วประเทศ ดำเนินการเหมือนกัน โดยเฉพาะการจัดคิว ต้องจัดระเบียบใหม่ จะทำให้เร็วขึ้น ส่วนปัญหานายหน้าได้กำชับให้วางระบบการจัดคิวที่ดี ปัญหานายหน้าจะลดลง สำหรับยอดพิสูจน์สัญชาติ ขณะนี้ดำเนินการไปแล้วเกือบ 1 ล้านคน แต่ยังเหลืออีกกว่า 1 ล้านคน ซึ่งรวมกลุ่มจับคู่นายจ้าง-ลูกจ้าง 7.2 แสนคน ที่ชะลอโทษ 180 วัน จะถึงกำหนดวันที่ 31 ธ.ค.60 คณะกรรมการพิจารณาการเก็บข้อมูลพิสูจน์ตัวบุคคลของแรงงานต่างด้าวได้ให้ขยายเวลาถึงวันที่ 31 มี.ค.61 จะนำเข้าที่ประชุม ครม. ในวันที่ 12 ธ.ค. ในส่วนของเด็กๆที่ติดตามแรงงานต่างด้าวจะประสานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มาดูแล อาจจะมีศูนย์หรือที่อยู่อาศัย รวมทั้งด้านสุขอนามัย ซึ่งจะดูแลเหมือนคนไทย

“การจัดระเบียบแรงงานถือเป็นเรื่องเร่งด่วน รวมทั้งการดูแลแรงงานที่เชื่อมโยงการค้ามนุษย์ด้วย ใน 1-2 เดือนจากนี้จะต้องชัดเจน ผมขอเวลา 2 สัปดาห์ ปรับเรื่องการตรวจสัญชาติแรงงานต่างด้าวให้ลื่นไหลขึ้นจะพยายามให้แรงงานเข้าสู่ระบบตามกฎหมายให้มากที่สุดและปัญหานายหน้า ปัญหาเรียกรับผลประโยชน์จะดีขึ้นและหมดไป แรงงานต่างด้าวจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย นายกฯได้กำชับ เรื่องผลประโยชน์ต่างๆ ถ้ามีจะต้องเร่งแก้ไขเป็นอันดับแรก” พล.ต.อ.อดุลย์กล่าว

ด้าน น.ส. ขนิษฐา ปานรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการบริการแรงงานต่างด้าว รพ.สมุทรสาคร ซึ่งเข้ามาบริการตรวจโรคแรงงานต่างด้าวในศูนย์พิสูจน์สัญชาติเมียนมา กล่าวว่า ส่วนใหญ่จะพบป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ ปอดผิดปกติ วัณโรค นอกจากนั้นยังมีผู้ป่วยติดเชื้อซิฟิลิส ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในอัตราส่วน 200 คนต่อ 1 หมื่นคน ส่วนโรคหัวใจพบมากขึ้น เพราะเข้ามาตรวจและขอใช้สิทธิประกันสังคมรักษาตัว แรงงานเมียนมาส่วนใหญ่มีความรู้ในการดูแลตัวเองมากขึ้น เพราะอยู่ในไทยมานาน แต่ที่น่ากังวลคือโรคเท้าช้าง ที่ไม่พบในประเทศไทย ได้กลับมาตรวจพบจากแรงงานเมียนมาในอัตราส่วน 10 คนต่อ 2 หมื่นคน ปกติโรคนี้จะมีตามชายแดน ประเทศไทยยังปลอดเชื้อ แต่แรงงานต่างด้าวติดเชื้อแล้วนำเข้ามาในประเทศ แต่ยังโชคดีที่ไทยไม่มียุงรำคาญที่เป็นพาหะนำเชื้อเหมือนยุงเมียนมา และโรคนี้ถ้ากินยาต่อเนื่อง 6 เดือนจะหายได้ แต่ถ้ากลับไปถูกยุงกัดก็กลับมาเป็นอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แรงงานต่างด้าว ใน จ.สมุทรสาคร ในเดือน พ.ย.60 ได้รับใบอนุญาตทำงาน 287,538 คน เป็นชาวเมียนมา 254,827 คน แบ่งเป็นกลุ่มนำเข้าตามเอ็มโอยู 64,156 คน กลุ่มมีพาสปอร์ตหรือหนังสือรับรอง 142,872 คน กลุ่มบัตรชมพู 56,658 คน และกลุ่มคัดกรองความสัมพันธ์ นายจ้าง-ลูกจ้าง 15,333 คน

ต่อมาช่วงค่ำ ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 4 ธ.ค. เป็นการประชุมนัดแรกของ ครม.ประยุทธ์ 5 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะเสนอที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาการแก้ไขหรือปรับปรุง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ในการกำหนดกระบวนการควบคุมและตรวจสอบการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน ให้ง่ายและสะดวกขึ้น และปรับปรุงอัตราโทษให้เหมาะสม ได้มีคำสั่ง คสช.ที่ 33/2560 ออกมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้อง และผ่อนผันระยะเวลาใช้บังคับใช้บางมาตรา เพื่อให้นายจ้างและคนต่างด้าวมีเวลาดำเนินการให้ถูกต้อง โดยกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 มิ.ย.61