กรมชลประทาน เผย 47 แผนงาน ระยะ 15 ปี ป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ทั้งปลูกป่าทดแทน ส่งเสริมอาชีพประชาชนได้รับผลกระทบที่ทำกิน ย้ำที่ผ่านมาดำเนินการจริงจัง จนคณะกรรมการมรดกโลกชื่นชม...

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ช่วยราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ให้ความสำคัญมากต่อการดำเนินงานทุกๆ โครงการ ให้เป็นไปตามมาตรการที่เสนอแนะในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา หรือโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน และอุทยานแห่งชาติปางสีดา ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ดังนั้นจึงต้องดำเนินการติดตามตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาให้ได้มากที่สุด



ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา มีทั้งหมด 47 แผนงาน แบ่งเป็น แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม 27 แผน แผนปฏิบัติการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม 20 แผนงานระยะเวลาดำเนินการ 15 ปี ตั้งแต่ปี 2555 ถึง ปี 2569 อาทิ แผนการปลูกป่าทดแทน ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน และพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดา รวมถึงการสร้างฝาย การติดตามป้องกันการบุกรุกพื้นที่อ่างเก็บน้ำ และการบุกรุกป่า นอกจากนี้ได้เริ่มอพยพสัตว์ป่าโดยรอบพื้นที่ก่อสร้างเขื่อน จนถึงปัจจุบัน ทั้งสิ้น 10,151 ตัว โดยไม่พบสัตว์ป่าเสียชีวิต

นอกจากนี้ได้มีแผนการพัฒนาส่งเสริมอาชีพ เนื่องจากประชาชนจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบเรื่องที่ทำกิน จึงดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพนอกเหนือจากการจ่ายค่าชดเชยที่ดิน เพื่อให้มีชีวิตที่ดีกว่าหรืออย่างน้อยต้องเทียบเท่ากับที่มีอยู่เดิม โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ดำเนินกิจกรรม เช่น การมอบปัจจัยการผลิตทั้งด้านพืช ด้านปศุสัตว์ และประมง การฝึกอบรมอาชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องการเพาะเห็ดเศรษฐกิจและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มอาชีพและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน การพัฒนาอาชีพประมงน้ำจืด โดยปล่อยพันธุ์ปลาลงในอ่างเก็บน้ำ 1 ล้านตัว พร้อมทั้งทำความเข้าใจ กำหนดกติกาหมู่บ้านและข้อบังคับผู้ทำการประมงในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เป็นการควบคุมและจัดระเบียบไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเขตพื้นที่อุทยานโดยรอบ

...



อย่างไรก็ตาม จากผลการดำเนินงานตามแผนดังกล่าวอย่างจริงจัง ส่งผลให้ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อติดตามสถานภาพการอนุรักษ์พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ได้มีมติอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2557 ชื่นชมผลการดำเนินงานของประเทศไทย ซึ่งได้ดำเนินงานเพื่อการบรรเทาผลกระทบจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ทั้งระหว่างการก่อสร้างและภายหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมชลประทานและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าจะไม่เกิดผลกระทบทางลบต่อคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลของแหล่ง (OUV).