ชี้กระแสหยอกล้อทางเพศเรื่องน่าอาย

ศ.พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดสัมมนาปฏิบัติการ “สร้างสังคมไทย ไร้ความรุนแรง : Zero Violence Society” ว่า สนช.โดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรีได้ร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงมาตลอด และกำลังศึกษาเพื่อปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคงจะไม่ไปเพิ่มโทษผู้กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัวเพิ่มขึ้น เพราะกฎหมายปัจจุบันก็กำหนดโทษรุนแรงอยู่แล้ว แต่เราจะให้ความสำคัญกับเรื่องที่สังคมไทยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญ เช่น ทำให้การหยอกล้อทางเพศที่มองเป็นเรื่องธรรมดาให้เป็นเรื่องน่าอับอายของผู้กระทำ

ด้าน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวสุนทรพจน์ “พม.กับการสร้างสังคมไทย ไร้ความรุนแรง” ว่า พม.ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง โดยดำเนินการ 3 แนวทาง คือ 1.การสร้างภูมิคุ้มกันครอบครัวจากความรุนแรง 2.การคุ้มครองช่วยเหลือ พร้อมทั้งบำบัดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำแทนการลงโทษจำคุก เพื่อไม่ให้กลับมากระทำซ้ำ 3.การเสริมพลังสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้ความช่วยเหลือ

นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรีกล่าวว่า ข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้ พบเด็กและสตรีถูกกระทำความรุนแรง ปี 2558 เฉลี่ย 66 รายต่อวัน ปี 2559 เฉลี่ย 55 รายต่อวัน ปี 2560 มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ด้วยปัจจัยจากสุรา ยาเสพติด และส่วนใหญ่เป็นการกระทำของคนในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิด ส่วนข้อมูลจากเว็บไซต์ www.violence.in.th  พบเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมากที่สุดคือการทำร้ายร่างกาย สาเหตุมาจากเมาสุรา/ยาเสพติด ส่วนใหญ่ผู้หญิงเป็นผู้ถูกกระทำ และรายงานสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ข้อมูลเดือน ส.ค.2560 พบจังหวัดที่มีการรายงานข้อมูลการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว สูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ ชลบุรี กาญจนบุรี น่าน ราชบุรี พัทลุง เชียงใหม่ ชัยภูมิ อุบลราชธานี แพร่ และสุโขทัย.

...