สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ที่รักและคิดถึง ไทยรัฐออนไลน์กับคุณครูลิลลี่มาเจอกันครั้งนี้ ก็เรียกว่าประเทศไทยของเราผ่านพ้นพระราชพิธีสำคัญ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไปเป็นที่เรียบร้อยอย่างสมพระเกียรติ หลายคนได้ไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์หน้าสำคัญ แต่อีกหลายคนก็เลือกที่จะชื่นชมความยิ่งใหญ่ และภาพแห่งความประทับใจผ่านหน้าจอโทรทัศน์ หรือสื่อโซเชียลต่าง ๆ ซึ่งจากการที่ได้รับชมผ่านสื่อต่าง ๆ นี้เอง จึงเป็นที่มาของไทยรัฐออนไลน์ในครั้งนี้

ซึ่งคุณครูลิลลี่ก็เป็นหนึ่งในผู้ชมที่รับข่าวสารจากทุกทิศทาง และในบรรยากาศของพิธีการต่าง ๆ นี้เอง จึงมีเรื่องราวของคำศัพท์ภาษาไทยในพระราชพิธีที่เมื่อได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านผ่านสื่ออาจจะมีหลายคนงง สับสน และสงสัย อย่างเช่นล่าสุด สด ๆ ร้อน ๆ ค่ะ คุณครูลิลลี่ เพิ่งได้ยินเมื่อช่วงเช้าวันนี้นี่เองค่ะ (ตอนเขียนต้นฉบับไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้ คือ วันที่ 27 ตุลาคม 2560) ข่าวที่ว่าคือข่าวของพิธีการตามขนบธรรมเนียมโบราณ ที่เป็นการอัญเชิญเครื่องสดจากการถวายพระเพลิงพระบรมศพไปจำเริญน้ำ โดยเฉพาะคำว่า จำเริญน้ำ นี่แหละค่ะ

ก่อนจะลงมือเขียนไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้ คุณครูลิลลี่ก็ลองเอาคำว่า จำเริญน้ำ ไปถามเพื่อน ๆ ให้ลองทายกันเล่น ๆ ว่า จำเริญน้ำ หมายถึงอะไร รู้ไหมคะเพื่อนคุณครูตอบกันไปต่าง ๆ นานาค่ะ ทั้ง ล้างน้ำบ้าง เติมน้ำให้ชุ่มชื่นบ้าง หรือประพรมน้ำบ้าง ถึงตรงนี้ขออธิบายคำว่า ประพรม สักนิดนะคะ คำนี้ต้องมี ร ควบกล้ำนะคะ ประ แปลว่า ทำให้เป็นจุด ๆ ส่วนพรม หมายถึง เอาสิ่งที่เป็นน้ำประโปรยให้กระจายออกเป็นเม็ดเล็กๆ คำว่า ประพรม ใช้กับการประพรมน้ำมนต์ หรือน้ำอบน้ำหอม เป็นต้นค่ะ ซึ่งทุก ๆ ความหมายที่เดากันมาผิดหมดค่ะ ทีนี้เรามาดูความหมายกันนะคะ

คำว่า จำเริญ ถ้าเราเปิดในพจนานุกรมจะพบว่า เป็นคำแผลงมาจากคำว่า เจริญ แปลว่า เติบโต งอกงาม มากขึ้น หรือสมบูรณ์ แต่มีอีกหนึ่งความหมายที่หลายคนไม่ทราบกัน นั่นก็คือ จำเริญ สามารถแปลว่า ทิ้ง ก็ได้ เช่น จำเริญยา หรือ แปลว่า ตัด ก็ได้เช่นกัน เช่น จำเริญเกศา เป็นต้นค่ะ เพราะฉะนั้น คำที่เป็นพระเอกของไทยรัฐออนไลน์ในครั้งนี้ “จำเริญน้ำ” จึงหมายความว่า ทิ้งน้ำ หรือ นำเอาเครื่องสดในพระราชพิธีไปลอยน้ำนั่นเองค่ะ

...

สำหรับพิธีจำเริญน้ำที่คุณครูลิลลี่ไปอ่านเจอและนำมาบอกเล่ากันต่อในครั้งนี้จัดขึ้นที่ท่าเรือหอประชุมกองทัพเรือ โดยมีกลุ่มผู้รับผิดชอบในงานเครื่องสด รวมไปถึง กองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง พร้อมด้วยช่างศิลปกรรม สำนักพระราชวัง และช่างฝีมือทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธานบนพระเมรุมาศ ร่วมทำพิธีด้วย ซึ่งในส่วนของพิธีจะเป็นการอัญเชิญเครื่องสดบางส่วน จากการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร อาทิ กาบกล้วย ดอกไม้ ม่านตาข่ายดอกไม้สด กรองดอกไม้จากเขตพระราชฐานชั้นใน พวงแขวนที่ประดับที่มุมของพระจิตกาธาน ลายแทงหยวกประดับชั้นรัดเอว ชั้นรัดเกล้า ห่อด้วยผ้าขาววางบนพานทอง นำล่องเรือไปบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ หน้าป้อมวิไชยประสิทธิ์ ซึ่งเป็นคุ้งน้ำที่มีน้ำผ่านตลอดเวลา

สำหรับการจำเริญน้ำ ถือเป็นการสิ้นสุดการทำเครื่องสดแบบสมบูรณ์ของนายช่างหลวง เพราะจริง ๆ แล้วการทำเครื่องสด หรือ งานเครื่องสดเป็นสิ่งที่เหล่าช่างหลวงไม่อยากพบ ไม่อยากทำ และไม่อยากเห็น เพราะนั่นหมายความว่าทุกครั้งที่ทำคือประเทศไทยต้องมีการสูญเสีย เขียนแบบนี้หลายคนงงเข้าไปอีกว่า เครื่องสด ทำได้เฉพาะในพิธีที่มีการสูญเสียกระนั้นหรือ เพราะฉะนั้นไปดูความหมายของเครื่องสดเพิ่มเติมค่ะ คำว่า เครื่องสด ในพจนานุกรมระบุว่า เป็นคำนาม หมายถึง ของสด เช่น หยวก ใบตอง ดอกไม้ และผลไม้บางชนิดที่ประดิษฐ์ขึ้นสำหรับตกแต่งบริเวณเชิงตะกอนที่เผาศพ เพราะฉะนั้นเมื่อมีการทำเครื่องสดจึงหมายถึงมีงานที่โศกเศร้านั่นเองค่ะ และทั้งหมดคือความรู้คู่พระราชพิธีสำคัญที่คุณครูลิลลี่นำมาฝากค่ะ

instagram : kru_lilly , facebook : ครูลิลลี่