หลายคนคงสงสัย ตัวอะไรดำๆ ขยุกขยิกอยู่ในขวดโหลใส แถมปิดฝาขวดตัวดำๆ นี้ก็ไม่ยักกะตาย ที่สำคัญยังกินข้าวตอกเป็นอาหาร ซึ่งบางคนที่เอามาเลี้ยงถึงกลับตั้งชื่อให้ไพเราะเสนาะหู เช่น มารวย มาดี เฮงเฮง โชคดี เป็นต้น
ทั้งนี้ พ่อค้าแม่ขายบางราย ก็นำตัวสีดำๆ ที่ว่าไปลงยัญบูชาผ่านพิธีการปลุกเสก ก่อนนำมาขายในราคาที่มีเลข 9 ลงท้าย ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อกันว่า หากได้ตัวนี้มาเลี้ยงแล้ว ต้องพูดคุยกับเขาเพราะๆ แล้วเขาจะให้โชค มาถึงตรงนี้ หลายคนคงถึงบางอ้อ ตัวที่ว่า นี่คือ กระดิ่งเงินกระดิ่งทอง นี่เอง
สำหรับตัว กระดิ่งเงินกระดิ่งทอง นั้น นสพ.เกษตร สุเตชะ สัตวแพทย์ประจำคลินิกสัตว์เลี้ยงพิเศษ โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า ผมขออ้างอิงข้อมูลจาก อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2540 ซึ่งเขียนโดยศ. ดร.สุธรรม อารีกุล
กระดิ่งทอง ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Martinus dermestoides Framer วงศ์ Tenebrionidae ส่วนชื่ออื่นๆ ได้แก่ มะเหมี่ยว (ภาคกลาง), ม่าเหมี่ยว (ภาคใต้)
ลักษณะทั่วไป เป็นแมลงพวกด้วงปีกแข็ง ขนาดเล็ก สีน้ำตาลแก่จนเกือบดำ ลำตัวเป็นรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร อกและท้องที่มีปีกแข็งคลุมมีขนาดไล่เลี่ยกัน หัวรูปหกเหลี่ยม ปลายขอบด้านหน้ามีขนละเอียด ตามีขนาดใหญ่มาก
...
เมื่อเทียบกับหัวรูปคล้ายเมล็ดถั่ว หนวดเป็นรูปกระบอง มีรยางค์รับความรู้สึกของปากยื่นออกมาให้เห็นได้บ้าง ด้านหน้าของอกปล้องแรกที่ติดกับหัวตัดเป็นเส้นตรง ส่วนท้ายโค้งมนทำให้เกิดมุมทั้ง 2 ข้าง มีจุดเล็กๆ กระจายเป็นลายทั่วอก
เมื่อแมลงหุบปีก ปีกแข็งที่คลุมด้านหลังของอกปล้องที่ 2 ไปจนถึงท้องหุ้มเกือบถึงปลายท้อง ทำให้เห็นปลายท้องโผล่ออกมาเพียงเล็กน้อย และจะเห็นแผ่นสามเหลี่ยมเล็กๆ อยู่ระหว่างโคนปีกแข็งที่มาจดกับด้านสันหลัง ปีกแข็งมีจุดเล็กๆ เรียงกันเป็นแถวหลายแถวทอดตามยาวไปจนตลอดปีก
นอจากนี้ ยังมีแมลงในสกุลอื่น โดยเฉพาะสกุล Alphitobius ที่มีรูปร่างและนิสัยความเป็นอยู่คล้ายกระดิ่งทอง ซึ่งทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นกระดิ่งทองเสมอ
ส่วนที่ก่อให้เกิดความสับสนมากที่สุดคือชนิด A.diaperinus Panzer ซึ่งมีขนาดเดียวกับกระดิ่งทอง แต่จะสังเกตความแตกต่างได้จากที่แมลงชนิดนี้มีสีดำกว่า ตาเล็กเมื่อเทียบกับหัวและมีรูปร่างกลม อกปล้องแรกที่ยื่นติดกับหัวมีด้านหน้าโค้งมนทำให้เกิดมีมุมแหลมทั้ง 2 ด้าน ไม่ตัดตรงเหมือนกับกระดิ่งทอง ไม่มีแผ่นสามเหลี่ยมเล็กๆ บริเวณโคนปีกที่จดกับด้านสันหลังเมื่อหุบปีก
อาหารของกระดิ่งทอง
สำหรับ กระดิ่งทอง อาศัยอยู่ตามที่แห้งและกินของแห้งต่างๆ เช่น ถั่ว เปลือกไม้ ปลา เนื้อ โดยเฉพาะเมล็ดบัวแห้ง จึงพบได้บ่อยๆ ตามเมล็ดบัวที่เก็บไว้นานๆ
วัฏจักรชีวิตของกระดิ่งทอง
แมลงชนิดนี้วางไข่ฟองเดี่ยวๆ ตามผิวของอาหารที่กิน และฟักเป็นตัวหนอนภายใน 3-7 วัน ตัวหนอนมีปล้องทางด้านหัวโตกว่า ทางด้านหางและปล้องเหล่านี้เรียงตัวเรียวไปทางด้านหาง ผนังลำตัวค่อนข้างแข็ง อกมีขาเล็กๆ สั้นๆ 3 คู่
เมื่อฟักออกจากไข่ใหม่ๆ สีขาวนวล และเมื่ออายุมากขึ้นสีจะเข้มขึ้นจนเป็นสีน้ำตาลมีชีวิตเป็นตัวหนอน 3-4 สัปดาห์ ก็จะเปลี่ยนเป็นดักแด้ 7-10 วัน จึงจะออกมาเป็นตัวเต็มวัย วัฏจักรชีวิตแต่ละระยะอาจสั้นหรือยาวแล้วแต่ความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่
กินแล้วฟิต คุณผู้ชายแข็งนานขึ้น
ชาวบ้านทางภาคใต้นิยมนำมาเลี้ยงด้วยเมล็ดบัวแห้งผสมสมุนไพรแห้ง โดยเฉพาะหัวข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ เชื่อกันว่าเมื่อนำตัวเต็มวัยมากินกับเหล้าหรือดองเหล้าดื่มจะช่วยกระตุ้นอวัยวะเพศชายให้มีความรู้สึกว่าแข็งตัวนานขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ หรือทางการแพทย์ว่าแมลงชนิดนี้มีตัวยาอะไร หรือเมื่อกินแล้วจะให้ผลเช่นนั้นจริง
ถ้าไม่อยากเลี้ยงทำอย่างไรดี
ถ้าไม่อยากเลี้ยงแล้ว ก็ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติไปเป็นอาหารสัตว์อื่นต่อไปได้ครับ ทั้งนี้ กระดิ่งเงินกระดิ่งทอง ไม่ใช่ หนอนนก Tenebrio molitor ซึ่งแม้จะอยู่ในวงศ์เดียวกัน แต่หนอนนกมีตัวอ่อนที่ขนาดใหญ่มาก และตัวเต็มวัยใหญ่กว่ากระดิ่งทองครับ เลี้ยงดี ๆ ละ อย่าให้คลานเข้าหูเวลาเรานอนก็แล้วกัน