ก่อนหน้านี้ ไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้สัมภาษณ์ ปอ ภากร กัทชลี แอดมินเพจ อ้ายจง เกี่ยวกับ ความคิดและทัศนะของคนจีน ยุคใหม่ ผสมผสานกับคนยุคเก่า ซึ่งยังมีคำถาม และข้อมูลบางส่วนที่น่าสนใจ เช่น ความคิดเห็นของคนจีนที่มีต่อวงการบันเทิงไทย การใช้โซเชียลมีเดียของคนจีน รวมไปถึงทัศนคติของคนจีนที่มีต่อเพศที่ 3 มาเริ่มที่คำถามแรกก่อน
- ชาวโซเชียลในประเทศจีน ชอบใช้บริการแอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ใดบ้าง
ในเมืองจีน บริการออนไลน์ที่มีชื่อเสียงระดับสากล อย่าง Facebook, Twitter, Youtube, Google, Instagram, Line และ WhatsApp พวกนี้คนจีนบางคนไม่รู้จักด้วยซ้ำ คือ ลืมไปได้เลย เพราะโดนบล็อกในจีน
ดังนั้น เว็บไซต์ และบริการออนไลน์ส่วนใหญ่ที่เล่นในจีน ก็จะเป็นของคนจีนเอง ซึ่งต้องบอกว่ามีหลากหลาย และเกิดขึ้นใหม่แทบทุกวัน ซึ่งจะมีบริการที่ทำขึ้นมาเพื่อความสนใจแบบรวมๆ หรือแบบเฉพาะทาง เช่น บันเทิง ท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ เครื่องสำอาง เรียกได้ว่า ยิบย่อย และมีทางเลือกที่มาก เหมาะกับจำนวนประชากรจีนจริงๆ
เว็บไซต์ และบริการออนไลน์ที่คนจีนนิยมใช้ ขอแบ่งเป็นประเภท ดังนี้
- Search engine : Baidu.com
- Social network: Weibo
- Chat : WeChat นิยมใช้เป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะบนมือถือ ส่วน QQ มีมานานมาก ปัจจุบันก็ยังนิยมใช้ แต่ส่วนใหญ่จะใช้บนคอมพิวเตอร์ และใช้ในรูปแบบของการคุยในที่ทำงาน กลุ่มของคลาสเรียน เป็นต้น
- Video : Youku.com, iqiyi.com
- Web Portal : 163.com (NetEase)
...
- E-commerce : Taobao.com, tmall.com, jd.com
- Email : 126.com
- ข้ามมาที่วงการบันเทิงของไทยหน่อย หลังๆ มีดารา หนังไทย และละครไทย เข้าไปมีอิทธิพลต่อคนจีน อยากให้ขยายความในส่วนนี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง
ต้องบอกว่า ใน 5-6 ปีมานี้ วงการบันเทิงของไทยแทรกซึมเข้าไปในจีนทีละนิด จนเริ่มเติบโตอย่างมาก และมีอิทธิพลต่อคนจีน โดยเฉพาะวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ค่อนข้างมากทีเดียว ละครไทย หนังไทย ดาราไทย เป็นที่พูดถึงในจีน อย่างดาราไทยหลายคนก็เริ่มเข้าไปในวงการบันเทิงจีน และเป็นไอดอลของคนจีน อย่าง ไมค์ พิรัชต์ มีผลงานในจีนมากมาย ทำอะไรก็เป็นกระแสในโซเชียลจีนตลอด
แม้กระทั่งเน็ตไอดอลของไทยบางคน ก็มาเป็นกระแสในจีน อย่าง เกรซ บูชิตา สาวผมสั้นที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว ก็ดังในโซเชียลจีน จนคนจีนแห่ตัดผมสั้นสไตล์เธอ และโพสต์อวดกันเป็นแถว
ล่าสุด ก็ต้องยกให้ ฉลาดเกมส์โกง ที่ใกล้จะแตะรายได้ในแผ่นดินใหญ่ พันล้านบาท ก็ก่อให้เกิดกระแส คนจีนคอสเพลย์เลียนแบบเหมือนโปสเตอร์หนัง แม้กระทั่งมีนักศึกษาจีนคนหนึ่ง ปั้นรูปของ ครูพี่ลิน ที่แสดงโดยนักแสดงวัยรุ่น ออกแบบ เพื่อบูชา ยกให้เป็นเจ้าแม่แห่งการสอบ ดังเป็นไวรัลจีนในตอนนี้
ที่ขาดไม่ได้คือ โฆษณาไทย หลายปีมานี้ คนจีนมักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าพูดถึงโฆษณาต้องยกให้ไทย เพราะกินใจ ซาบซึ้ง และเรียล ซึ่งหายากในจีน โดยส่วนตัวเคยคุยกับ Creative Director ของบริษัทสื่อในจีน เขาบอกเลยว่า เวลาเขาจะคิดงานโฆษณาสักเรื่อง เขาจะดูของไทยเป็นไอเดีย และคนทำงานสายนี้ในจีนส่วนใหญ่ก็เป็นแบบเขา
สำหรับดาราไทยที่ได้รับความนิยมในหมู่คนจีน ได้แก่
1. ป้อง ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ ชื่อจีน 纳瓦·君拉纳拉 (น่าหว่า จันลาน่าลา) แต่คนจีนก็มักเรียกสั้นๆ ว่า Pong มีคนจีนติดตาม Weibo: 650,000 ราย เป็นดาราไทยที่โด่งดังในจีนเป็นอันดับแรกๆ และดังอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน
2. ไมค์ พิรัชต์ ชื่อจีน 披拉·尼迪裴善官 (พีลา หนีตี๋เผยซ่านกวน - เลียนเสียงตามชื่อนามสกุล ภาษาไทย) แต่ชื่อในวงการที่คนจีนรู้จัก คือ Mike Angelo ใน Weibo โซเชียลชื่อดังของจีน ล่าสุด มีคนจีนติดตาม 5.80 ล้านราย
3. ออม สุชาร์ ชื่อจีน 李海娜 (หลีไห่น่า) ถือเป็นคู่จิ้นของ ไมค์ พิรัชต์ คนจีนเลยติดตามเป็นจำนวนมาก อย่างล่าสุด มี Photobook ที่ไปถ่ายที่มัลดีฟส์ ก็เป็นกระแสใน Weibo ติดต่อกันหลายวัน มีคนจีนติดตามใน Weibo : 2.95 ล้านราย
4. มาริโอ้ เมาเร่อ ชื่อจีน 马里奥 毛瑞尔 หมาหลี่อ้าว เหมาลุ่ยเอ่อ - เลียนเสียงตาม ชื่อนามสกุล มาริโอ้ เมาเร่อ แต่คนจีนก็จะเรียกสั้นๆ ว่า หมาหลี่อ้าว มีคนจีนติดตามใน Weibo: 1.16 ล้านราย
- หากมองย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ ได้พุ่งเป้าเข้าไปทำการตลาดในประเทศจีนมากขึ้น ด้วยความที่จีนเป็นตลาดใหญ่ มีกำลังซื้อสูง ผนวกกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกำลังพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งตรงนี้เองทำให้เกาหลีกอบโกยเงินเข้าประเทศได้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ตั้งแต่จีนมีปัญหากับเกาหลีใต้เรื่อง THAAD อิทธิพลของวงการเพลง และวงการบันเทิงเกาหลีได้ลดบทบาทอย่างเห็นได้ชัด อยากให้ คุณปอ ช่วยเล่า หรือเปรียบเทียบให้เห็นช่วงก่อนมี THAAD และยังไม่มี THAAD
ก่อนหน้านี้ วงการเพลง และวงการบันเทิงเกาหลีใต้ มีอิทธิพลในหมู่วัยรุ่นจีนและคนจีนทั่วไปค่อนข้างมาก ก็เหมือนกับในไทย อันนี้รวมไปถึงวงการท่องเที่ยวด้วย แต่พอมี THADD ซึ่งเป็นเรื่องราวระดับการเมือง แต่ในสังคมจีน คนจีนมีความรักชาติสูงมาก จึงเกิดกระแสแอนตี้ ช่วงที่มีกระแสแอนตี้หนักๆ ดาราเกาหลีใต้ แทบจะถูกแบนในจีนไปเลย ไม่มีออกสื่อ และตอนนี้ก็ดูเหมือนจะโอเคขึ้น แต่ก็ดูเงียบเหงาไม่น้อย
ล่าสุด ช่วงวันชาติจีนที่ผ่านมา สื่อจีนก็พร้อมใจตีข่าวว่า คนจีนไปเที่ยวเกาหลีใต้ลดลงกว่าเดิมมาก จนไม่ติดเป้าหมาย TOP10 ที่คนจีนไปเที่ยว
- คำถามสุดท้ายที่หลายคนก็เคยสงสัย คนจีนมีทัศนคติกับเพศที่ 3 อย่างไรบ้าง
อย่างที่เราอาจเคยได้ยินครับว่า สังคมจีนแอนตี้กับเพศที่ 3 โดยเฉพาะ เพศที่สามที่เป็น เกย์ หรือสาวประเภทสอง เพราะตั้งแต่สมัยโบราณ ผู้ชายจะต้องทำหน้าที่สืบสกุล เป็นความหวังของวงศ์ตระกูล ซึ่งในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนจีนรุ่นเก่าจะยังรับไม่ได้ รู้สึกแอนตี้ ถึงขนาดรู้สึกว่าคนที่เป็นเพศที่สาม เป็นอาการผิดปกติ
มีคนจีนจำนวนไม่น้อยมองว่า สาวประเภทสอง มาจากครอบครัวลำบาก จึงต้องยอมตัดอวัยวะเพศมาทำมาหากินเลี้ยงชีพด้วยการเป็นสาวประเภทสอง อย่างเช่นแสดงโชว์ในประเทศไทยที่มีชื่อเสียงมาก สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะสมัยก่อน "ขันที" ของจีน มาจากครอบครัวที่ยากลำบากมาก พ่อแม่ยอมให้ลูกชายของบ้านเป็น ขันที เพื่อเข้ามาในวัง เลี้ยงดูครอบครัว
แต่สำหรับจีนยุคใหม่ ในปัจจุบันก็เริ่มเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น มีคนจีนจำนวนไม่น้อยที่เป็นเพศที่สาม มีการแสดงความเคลื่อนไหวอยู่เนืองๆ เหมือนกัน แต่ถ้าให้สรุป ก็ยังมีจำนวนมากที่ 'เป็น' แต่แอบไว้ ถ้าหากเป็นผู้หญิงที่เป็นเพศที่สาม จะเปิดเผยในสังคมง่ายกว่า ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีคนจีนมาถาม อ้ายจง เรื่องแปลงเพศที่ไทยด้วยนะครับ ไม่ใช่แค่คนเดียวด้วยนะ