การกำหนดให้มีสภาเด็กและเยาวชนในทุกระดับ

ประเด็นสำคัญที่ได้มีการผลักดันจากทุกภาคส่วน จนนำไปสู่การปรับแก้และบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560

ข้อบัญญัติที่ให้ดำเนินการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ประกอบด้วย 1.สภาเด็กและเยาวชนตำบล และสภาเด็กและเยาวชนเทศบาล ตามมาตรา 22 ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน 2.สภาเด็กและเยาวชนเขต ตามมาตรา 24 ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน 3. สภาเด็กและเยาวชนอำเภอ ตามมาตรา 25 ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน 4.สภาเด็กและเยาวชนจังหวัด ตามมาตรา 26 ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน และ 5.สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 28 ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน

ขณะที่ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ครั้งที่ 3/2560 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็นประธาน ได้เห็นชอบพร้อมมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ดำเนินการจัดให้มีสภาเด็กและเยาวชนระดับต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลากำหนดนับแต่วันที่ พ.ร.บ.บังคับใช้ ขณะเดียวกัน ก็ให้สร้างความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีสภาเด็กและเยาวชนทุกระดับให้แล้วเสร็จตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งติดตามประเมินผลและรายงานผลต่อ กดยช.

วิทัศน์
วิทัศน์

...

นายวิทัศน์ เตชะบุญ อธิบดี ดย. กล่าวว่า “ขณะนี้สภาเด็กและเยาวชนระดับตำบลและเทศบาล 7,775 แห่ง ระดับอำเภอ 878 แห่ง และกรุงเทพมหานคร 50 เขต ได้จัดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนระดับจังหวัดจะเริ่มคัดเลือกวันที่ 4 พ.ย. จากนั้นจะเป็นการคัดเลือกระดับประเทศเดือน ธ.ค. ขณะเดียวกัน ดย.ได้จัดอบรมเจ้าหน้าที่แต่ละพื้นที่เพื่อเป็นครู ก หรือพี่เลี้ยงในการให้ความรู้ความเข้าใจสภาเด็กฯ โดยเฉพาะระดับตำบลที่เรียกว่าเพิ่งตั้งไข่ ได้รู้ถึงบทบาท ภารกิจ รวมถึงการจัดทำแผน โครงการกิจกรรมเพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุนจาก ดย.ผ่านบ้านพักเด็กและครอบครัว ซึ่ง ดย.ได้จัดสรรงบประมาณลงไปในแต่ละพื้นที่แล้ว โดยระดับ อบต./เทศบาลจะได้ 20,000 บาท อำเภอ 30,000 บาท จังหวัด 120,000-300,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดจังหวัด เบื้องต้นอยากให้เน้นการทำงานจิตอาสา การประสานข้อมูลในพื้นที่กับ อบต.เทศ– บาล เพื่อร่วมทำงานและแก้ปัญหาพื้นที่ ซึ่งต่อไปสภาเด็กฯ จะถูกถ่ายโอนไปขึ้นกับพื้นที่ จึงต้องบูรณาการทำงานอย่างใกล้ชิดในการจัดการปัญหาและพัฒนาพื้นที่ของตนเองอย่างเข้มแข็ง”

“ดย.คาดหวังให้สภาเด็กฯระดับต่างๆ เป็นแกนนำขับเคลื่อนส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ร่วมกันศึกษาสอดส่องนำปัญหาในพื้นที่มาร่วมกันป้องกันและแก้ไข รวมถึงสร้างสรรค์กิจกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันปัญหาต่างๆ ทั้งการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ยาเสพติด การติดเกม รวมไปถึงการเป็นจิตอาสาพัฒนาชุมชน ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม การดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการในชุมชนของตนเอง” นายวิทัศน์ กล่าวย้ำถึงความสำคัญของสภาเด็กฯ

สมพงษ์
สมพงษ์

ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนภาพว่า “ในเชิงปริมาณตัวเลขที่จะเกิดสภาเด็กฯ ทุกตำบลเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่น่าห่วงคือเมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ถ้าผู้ใหญ่ไม่ช่วยเหลือประคับประคอง จะเลือนหายไปตามธรรมชาติ ตามงบประมาณที่จัดสรรให้ ทั้งที่สภาเด็กและเยาวชนตำบลเป็นระดับสำคัญที่สุด เป็นหน่วยที่อยู่กับพื้นที่ เป็นรากฐานในการสร้างคน ทำอย่างไรให้คงอยู่ มีกิจกรรมเคลื่อนไหว สภาเด็กฯ เองก็ต้องมองที่ตัวพื้นที่ที่อยู่นั้นสำคัญที่สุด ขณะที่สภาเด็กฯ ระดับจังหวัด ระดับประเทศทำหน้าที่สนับสนุน ไม่ใช่เป็นลักษณะการสูบเด็กขึ้นข้างบนจนข้างล่างกลายเป็นสุญญากาศ ขณะเดียวกัน พม.ต้องเปลี่ยนระบบคิดในการทำงานกับสภาเด็กฯ ต้องมองหน่วยตำบลสำคัญที่สุดและประคับประคองให้อยู่รอด เข้มแข็ง โดยร่วมมือกับ อบต. เทศบาลและเครือข่ายในพื้นที่”

“ผมอยากเห็นเด็กสามารถกำหนดนโยบายที่เกิดขึ้นจากข้างล่างว่าเขาต้องการอะไร ทำอะไร และนำเข้าสู่ กดยช.ได้ ถ้าเราสร้างเด็กและเยาวชนที่โตจากข้างล่างขึ้นมา จะพัฒนาความคิด การสร้างสรรค์ การมีส่วนร่วม ความเป็นพลเมืองประชาธิปไตย สภาเด็กและเยาวชนขณะนี้เป็นการสร้างและหล่อหลอมคนครั้งใหญ่ของประเทศ ดังนั้นเวทีและกิจกรรมกำลังถูกเปิด หน้าที่ พม.ต้องมองแบบพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ คอยจัดกระบวนการ สร้างหลักสูตรส่งเสริม อีกทั้งต้องให้ความสำคัญกับทิศทางนโยบายและงบประมาณสนับสนุนการทำงานของสภาเด็กฯ ลดบทบาทตัวเองแต่เพิ่มบทบาทเด็ก ขณะเดียวกันเด็กก็ต้องมีวิธีคิด รักษาความเป็นธรรมชาติของเด็ก ความมีจิตอาสา ทำกิจกรรมหวังดีกับประเทศ อย่าคิดหวังการเข้าสู่เวทีสภาเด็กฯ เพื่อฟอกตัวเองนำไปสู่การเมืองระดับบน” รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวเน้นความสำคัญสภาเด็กฯ

ทีมข่าวการพัฒนาสังคม มองว่า การเปิดเวทีให้สภาเด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมกำหนดนโยบายดำเนินงานรวมถึงแก้ปัญหาในพื้นที่ น่าจะเป็นตัวช่วยสำคัญเพื่อให้การแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนเป็นไปอย่างตรงจุด

ขณะเดียวกันการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่เด็กและเยาวชนได้ลงมือปฏิบัติจริง น่าจะเป็นเสมือนวิตามินสำคัญที่ช่วยเติมพลังบวก

เพื่อเสริมสร้างพลังความเป็นพลเมืองคุณภาพในอนาคต.


ทีมข่าวการพัฒนาสังคม