เกษตรผสมผสานของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นสิ่งแรกที่ชาวบ้านชุมชนบ้านแพะใต้ ต.หนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน นำมาใช้ หลังได้รับสิทธิทำกินจากสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน บนผืนแผ่นดินกว่า 145 ไร่ ที่เคยบุกรุกมาตั้งแต่ปี 2542 จนบางคนต้องติดคุกติดตะราง...ปัจจุบันชาวบ้าน 122 ครัวเรือน มีความเป็นอยู่ที่ดี คุณภาพชีวิตดีขึ้น ด้วยเดินตามศาสตร์พระราชา
“เรามีข้อพิพาทกับเอกชนเจ้าของที่ดินจนถูกฟ้องร้อง เราปลูกลำไย พืชผักผลไม้มาตลอด ธนาคารที่ดินมาช่วยเจรจาขอซื้อที่ดินผืนนี้มาตั้งแต่ปี 2554 เพิ่งจะสำเร็จเมื่อปีที่แล้ว ถึงได้มีการจัดสรรที่ดินในรูปแบบสหกรณ์ ให้ครอบครัวละ 1 ไร่ 2 งาน พวกเราจึงนำหลักเกษตรผสมผสานมาใช้ ปลูกพืชผักสวนครัว ชะอม มะม่วง เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว ขุดบ่อเลี้ยงปลา โดยมีลำไยเป็นรายได้หลัก ส่วนตัวจึงมาคิดต่อยอดให้มีรายได้ทุกวัน เลยทำกรงแบบคอนโดเลี้ยงนกกระทาใต้ต้นลำไย เลี้ยงไก่เนื้อแบบปล่อย ไว้เป็นรายได้รายเดือน”
ป้าคำ ซางเลง เล่าถึงที่มาของการสร้างรายได้ทุกวันจากนกกระทา...พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน ที่นี่ปลูกลำไย 60 ต้น ระหว่างต้นลำไยกลางสวน ปลูกโรงเรือนนกกระทาแบบคอนโดขนาด 12×6 เมตร เลี้ยงนกกระทา 3,000 ตัว เป็นรายได้รายวันจากการขายไข่
...
ต่อมาเริ่มมองถึงรายได้รายเดือน เลี้ยงไก่พื้นเมือง 300 ตัว ขายลูกไก่ให้คนขุนนำไปเลี้ยงเป็นไก่เนื้อ พื้นที่ด้านข้างขุดบ่อน้ำขนาด 10×10 เมตร เก็บกักน้ำเลี้ยงปลาไว้กินเองและแจกเพื่อนบ้านเป็นหลัก
พื้นที่ว่างปลูกพืชผักสวนครัว พริก ผักหวานป่า ชะอม มะม่วง กล้วย สับปะรด มะพร้าว เน้นพืชผักที่หาได้ในแถบนี้ และพืชผักที่ชอบกินเป็นหลัก
“อยู่ที่นี่แทบจะไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเลย นอกจากค่าอาหารนกกระทา สารเร่งลำไย หากต้องการทำนอกฤดู และยาบางชนิดที่ใช้กับลำไย ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง จึงต้องใช้โซลาร์เซลล์ ไม่มีค่าไฟฟ้า ส่วนน้ำชาวบ้านร่วมกันทำประปาชุมชน อาหารการกินอยากกินอะไรไปหาในสวน เพราะปลูกเกือบทุกชนิดที่ต้องการกิน อยากกินปลาก็ไปเอาในบ่อ ไก่ก็ไปจับ บางทีเพื่อนบ้านมีอะไรก็เอามาแลก เปลี่ยนกัน ยิ่งทำให้ที่นี่มีความสามัคคีเข้าไปอีก”
การบริหารจัดการถือเป็นจุดแข็งของที่นี่ เพราะมีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งมาตั้งแต่ก่อนได้สิทธิเข้าทำกิน ปัจจุบันรวมตัวกันเป็นสหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนบ้านแพะใต้ จำกัด ทำหน้าที่บริหารจัดการทุกเรื่องในชุมชน ต่อไปเมื่อได้โฉนดฉบับจริง (ขณะนี้ได้โฉนดชั่วคราว) สหกรณ์จะต้องคอยรวบรวมเงินผ่อนชาวบ้านครอบครัวละ 3,000 บาทต่อปี เพื่อนำมาชำระคืนให้กับสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน
ด้วยยึดในศาสตร์พระราชา ทุกวันนี้ป้าคำมีรายได้จากไข่นกกระทาวันละ 700 บาท จากลูกไก่เดือนละ 7,000 บาท จากลำไยปีละอย่างน้อย 40,000 บาท ยังไม่รวมพืชผักที่ส่วนใหญ่เอาไว้กินเอง ขี้นกกระทาที่เก็บขายได้แทบทุกวัน ที่ดินแค่ไร่กว่าทำให้ชีวิตนี้มีความสุขแล้ว.
กรวัฒน์ วีนิล