ทำความรู้จักกับ 'ภูมิสิริมังคลานุสรณ์' อาคารรักษาพยาบาลรวมอาคารใหม่ขนาด 29 ชั้น และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ครบวงจร ใหม่ล่าสุดของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ในหลวง ร.9 และพระราชินี...

หลังจากเมื่อต้นปี 2559 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เปิดบริการ “อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์” เป็นอาคารรักษาพยาบาลรวมอาคารใหม่ขนาด 29 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งสิ้น 224,752.25 ตารางเมตร นับเป็นอาคารโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวง รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Excellence Center) ที่มีความเพียบพร้อมด้วยบริการทางการแพทย์ตามมาตรฐานสากลที่ทันสมัย และครบวงจรแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service) โดยมีจุดเด่น คือ การบริการรักษาพยาบาลที่สะดวกรวดเร็ว และเข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ดียิ่งขึ้น ในระดับพรีเมียมแก่ประชาชนทุกระดับในราคามิตรภาพที่คนไทยสามารถจ่ายได้ โดยครั้งนั้นเปิดให้บริการเพียง ชั้น 19 หอผู้ป่วยสามัญ ชั้น 28 ห้องพิเศษเดี่ยว ชั้น 7 หน่วยเอกซเรย์ หลอดเลือดรังสีร่วมรักษา, ชั้น 2 ศูนย์การวินิจฉัยด้วยภาพ (Imaging center) MRI-เวชศาสตร์นิวเคลียร์ และคาดว่าจะสามารถรองรับผู้ป่วยในได้กว่า 1,200 เตียง ซึ่งถือเป็น “มิติใหม่แห่งการให้เพื่อทุกชีวิต” ที่ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จะมอบให้กับประชาชนคนไทยทุกชนชั้น

...

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาทางกายภาพของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในด้านความไม่เป็นหมวดหมู่และปัญหาอาคารรักษาพยาบาลที่กระจัดกระจาย ไม่เป็นบริการแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service) ทำให้ไม่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ห้องพักสำหรับผู้ป่วยไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้รับบริการ รวมทั้งข้อจำกัดในการรองรับผู้ป่วยสาธารณภัยพิบัติ อุบัติภัยต่างๆ (Mass Casualty) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงได้สร้างอาคารที่มีขนาดใหญ่สองหลังเชื่อมต่อกัน ซึ่งเป็นอาคารรักษาพยาบาลรวม เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวง รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ให้ใช้ชื่ออาคารว่า “อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์” ซึ่งมีความหมายว่า “อนุสรณ์ที่เป็นมงคลของสองพระองค์”

ล่าสุดอาคาร “ภูมิสิริมังคลานุสรณ์” ได้เปิดให้บริการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการรักษาของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แล้ว 6 ศูนย์ ได้แก่
1) ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร
2) ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร
3) ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคไตในภาวะวิกฤติ
4) ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคลมชักครบวงจร
5) ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ
และ 6) ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านสเต็มเซลล์และเซลล์บำบัด

และจะเริ่มทยอยเปิดบริการด้านอื่นๆ ในลำดับต่อๆ ไป ซึ่งศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่างๆ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้เปิดให้บริการแล้วรวมทั้งหมด 21 ศูนย์

นอกจากนี้อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ยังรวมบริการต่างๆ ที่กระจายอยู่ตามอาคารต่างๆ มาไว้ในอาคารเดียวกัน ทำให้ไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปหลายอาคารเหมือนเมื่อก่อน เช่น การย้ายผู้ป่วยที่กระจัดกระจายตามตึกต่างๆ เข้ามาพักที่หอผู้ป่วยในอาคารนี้ที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 1,250 เตียง มีส่วนสนับสนุนการให้บริการผู้ป่วยใน (In patient) แบบครบวงจร (One-Stop Service) ตั้งแต่ ชั้น 5-28 นอกจากนี้ ที่ชั้น 14 ของอาคารยังได้จัดพื้นที่สำหรับผู้ป่วยที่สามารถปฏิบัติศาสนกิจตามความเชื่อของตนถึง 3 ศาสนา คือ ศาสนาพุทธ อิสลาม และคริสต์

ที่สำคัญอาคารแห่งนี้มีห้องผ่าตัดรวม 62 ห้อง สำหรับทุกสาขาวิชา ชั้น 2 ห้องตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (MRI) ห้องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) รวมถึงการปรับห้องผ่าตัดระบบประสาทสมองให้มีเครื่องตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็กพร้อมขณะผ่าตัด เพื่อตรวจดูรอยโรคที่อยู่ในเนื้อสมองว่าผ่าออกได้หมดและไม่มากเกินไป ห้องผ่าตัด Integrated ที่มีอุปกรณ์ควบคุมเทคโนโลยีต่างๆ ในห้องสามารถถ่ายทอดและสอนไปยังห้องประชุมในโรงพยาบาลและต่างประเทศได้

ห้องผ่าตัด Hybrid ที่สามารถผ่าตัดหลอดเลือดใหญ่ หรือผ่าตัดสอดสายเพื่อการรักษา (Intervention surgery) ห้องผ่าตัด Robotic เป็นการผ่าตัดที่ใช้แขนหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดทำให้มีความเที่ยงตรงแม่นยำและสงวนเนื้อเยื่อที่ไม่จำเป็นต้องตัดหรือตัดแล้วเกิดผลเสียกับผู้ป่วย

ศ.นพ.รื่นเริง ลีลานุกรม รองผู้อำนวยการฯ ฝ่ายบริการ กล่าวว่า มิติใหม่ของการให้ด้านบริการของอาคารภูมิสิริฯ หมายถึงการให้บริการแบบ One-Stop Service เป็นการปรับการให้บริการผู้ป่วยในจากเดิมอยู่ในพื้นราบ ซึ่งจะมีอาคารต่างๆ กระจายอยู่ทั่วไปเป็นจำนวนมาก เมื่อสร้างอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์แล้วงานบริการได้เปลี่ยนไปเป็นแบบแนวดิ่ง รวมงานบริการต่างๆ มาไว้ในอาคารเดียว ได้แก่ ห้องพักผู้ป่วยจำนวน 1,250 เตียง ห้องไอซียู จำนวน 58 เตียง ห้องผ่าตัดจำนวน 62 ห้อง ฝ่ายรังสีวิทยาที่มีเครื่องมือทางรังสีรักษามากที่สุดในประเทศไทยเฉพาะ ในอาคารภูมิสิริฯ เครื่องวินิจฉัยด้วยคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (MRI) จำนวน 4 เครื่อง เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scanner) จำนวน 4 เครื่อง ห้องเอกซเรย์ ห้องเจาะเลือด ธนาคารเลือด มารวมไว้ที่อาคารแห่งนี้ อันจะสะดวกต่อการดูแลรักษาพยาบาลและติดตามผลของผู้ป่วยแบบเบ็ดเสร็จ


รศ.นพ.ธีระ วัชรปรีชานนท์ รองผู้อำนวยการฯ ฝ่ายกายภาพ กล่าวว่า อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ได้เตรียมความพร้อมของพื้นที่การให้บริการภายใน ด้วยการวางแผนในการจัดระเบียบพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน โซน A B C D ตั้งแต่พื้นที่การรักษาพยาบาล การเรียนการสอน พื้นที่บริการผู้ป่วยและญาติ ได้แก่ ที่จอดรถ ร้านอาหาร ร้านค้าที่จำเป็น ห้องน้ำ พื้นที่นันทนาการ รวมทั้งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สนับสนุนผลงานวิจัยเพื่อการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ นอกจากนี้ในแต่ละชั้นยังมีความพร้อมในเรื่องของการดูแลรักษาความสะอาด โดยใช้ตามมาตรฐาน JCI Standard และมีระบบความปลอดภัยที่เป็นเลิศ โดยแบ่งประเภทพื้นที่ตามความเสี่ยงตามมาตรฐาน NHS-National Patient Safety Agency จากประเทศอังกฤษ ที่แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มพื้นที่ดังนี้

1) พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงมาก เช่น ห้องผ่าตัด ห้องคลอด ห้องผู้ป่วยติดเชื้อ
2) พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น แผนกฉุกเฉิน แผนกปลอดเชื้อ ห้องแล็บ แผนกเนิร์สเซอรี่
3) พื้นที่ที่มีความเสี่ยงปานกลาง เช่น ห้องตรวจ แผนกผู้ป่วย ห้องพักผู้ป่วย แผนกจ่ายยา แผนกบริการผู้ป่วยนอก ห้องประชุม
4) พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น สำนักงาน ห้องพัสดุ พื้นที่รอบนอก ลานจอดรถ

รองผู้อำนวยการฯ ฝ่ายกายภาพ กล่าวอีกว่า สำหรับความปลอดภัยเรื่องอัคคีภัย ทางโรงพยาบาลได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบและจัดเตรียมอุปกรณ์ให้สอดคล้องกับแผนการป้องกันและระงับอัคคีภัย มีการฝึกซ้อมการหนีไฟ และสื่อสารให้บุคลากรภายในอาคารรับทราบแนวทางการปฏิบัติ และในแต่ละชั้นแต่ละโซนยังมีประตูกันไฟและควัน และมีห้องควบคุมกล้องวงจรปิด CCTV ในทุกชั้น ทุกจุดรวม 1,237 ตัว ซึ่งจะทำให้การดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยและผู้มาใช้บริการมีประสิทธิภาพและทั่วถึงมากขึ้น

นางพรทิพย์ ควรคิด หัวหน้าพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า เนื่องจากอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ มีทั้งผู้ป่วยพักค้างคืนและไม่พักค้างคืน มีทั้งผู้ป่วยที่มารับการรักษาพยาบาล และมารับการตรวจวินิจฉัย จึงมีการเตรียมความพร้อมของพยาบาลทั้งด้านจำนวนและความรู้ความสามารถ เพื่อรองรับจำนวนหรือประเภทของผู้มารับบริการ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่นำเข้ามาใช้ ในการดูแลผู้ป่วยเรามีการออกแบบการดูแลผู้ป่วยใน ด้วยระบบพยาบาลแบบ Total Care ที่เหมาะสมกับภาระงานกับจำนวนพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยทุกท่านได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง โดยมุ่งให้มีมาตรฐาน มีความปลอดภัยในทุกขั้นตอน และให้ความใส่ใจกับความต้องการด้านสุขภาพ.