"ธีระเกียรติ" จีบ ม.ชั้นนำมาร่วมแจมอีก ยันไม่แย่งเด็กมหาวิทยาลัยไทย


นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้าหลังมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 29/2560 เรื่อง การส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ว่า ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยต่างประเทศ 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University) สาขาวิศวกรรมขั้นสูง ประเทศไต้หวัน และมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) สาขาวิศวกรรมโลจิสติกส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งได้ยื่นข้อเสนอการจัดตั้งมหาวิทยาลัยต่างชาติในประเทศไทยมาที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แล้ว โดยเตรียมนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเร็วๆนี้ จากนั้นจะเริ่มเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2561 ทันที สำหรับมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน จะร่วมกับกลุ่มอมตะนคร ในการหาพื้นที่จัดตั้งสถาบัน ส่วนมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนจะร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการจัดการเรียนการสอน

รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า ตนได้เดินทางไปประเทศอังกฤษ และได้หารือกับมหาวิทยาลัย 10 แห่งเป็นการส่วนตัว หลายแห่งแสดงความจำนงที่อยากจะมาเปิดการเรียนการสอนที่ประเทศไทยด้วย และในช่วงระหว่างวันที่ 29 ก.ย.-8 ต.ค.2560 ตนพร้อมด้วยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จะเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพื่อหารือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำอันดับต้นๆของโลกเจรจาให้มาเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทยด้วย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีข้อห่วงใยว่าการเข้ามาเปิดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยต่างชาติจะส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยของไทย ซึ่งตนขอให้เชื่อมั่นว่าการมาเปิดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยต่างประเทศในประเทศไทยไม่ได้มาแย่งมหาวิทยาลัยไทยจัดการเรียนการสอนแต่อย่างใด เพราะมหาวิทยาลัยต่างชาติไม่เสี่ยงที่จะเปิดเองแบบเอกเทศโดยที่ไร้ความร่วมมือ และสาขาที่เปิดก็เป็นสาขาชั้นสูงที่เมืองไทยไม่มี เรื่องนี้ถือเป็นก้าวแรกของอุดมศึกษาจะส่งผลให้การผลิตบัณฑิตไทยมีคุณภาพมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือการจัดการศึกษาและการวิจัยระหว่างสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศกับสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันอื่นในประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการพัฒนาให้ประเทศไทยในอนาคต.

...