ภาคเกษตรถึงอุตสาหกรรมตั้งแต่ 50 สตางค์-3 บาท ต.ค.- พ.ย.นี้ บังคับใช้
นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แถลงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ความเสี่ยงเรื่องทรัพยากรน้ำ รัฐบาลจึงต้องมีกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำที่รัฐบาลผลักดันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนี้ หากมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายจะอยู่ภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
นายวรศาสน์กล่าวต่อว่า การจัดสรรน้ำจึงเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ ซึ่งระบบการจัดสรรน้ำจะสร้างสิทธิในการเข้าถึงน้ำสาธารณะที่หมายถึง แม่น้ำ ลำคลอง บึง แหล่งน้ำใต้ดิน ทะเลสาบ และแหล่งน้ำตามธรรมชาติอื่นๆทั้งที่รัฐจัดสร้างหรือพัฒนาขึ้น เพื่อให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้ กฎหมายได้กำหนดประเภทการใช้น้ำไว้ 3 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 ใช้น้ำเพื่อการดำรงชีพ ไม่ต้องเสียค่าใช้น้ำ ประเภทที่ 2 ใช้น้ำด้านการเกษตร เลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ เก็บค่าน้ำไม่เกิน 50 สตางค์ต่อ ลบ.ม. ด้านการท่องเที่ยว โรงแรม สถานที่พักผ่อน ร้านอาหาร เก็บค่าน้ำ 1-3 บาทต่อ ลบ.ม. และธุรกิจสนามกอล์ฟ การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาสัมปทาน เก็บค่าน้ำไม่เกิน 3 บาทต่อ ลบ.ม. และประเภทที่ 3 สำหรับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ และกิจการอื่นๆที่ใช้น้ำในปริมาณมากตามมติของ กนช. เก็บค่าน้ำไม่ต่ำกว่า 3 บาทต่อ ลบ.ม. ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงเดือน ต.ค.- พ.ย.กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ จากนั้นภายใน 180 วันจะมีการออกกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนทั่วประเทศอีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่อง อัตราการเก็บค่าน้ำ ก่อนจะออกเป็นกฎกระทรวง
...
อธิบดีกรมฯน้ำกล่าวเสริมว่า สำหรับมติ กนช.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้น ได้สั่งการให้ย้ายกรมฯน้ำ ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากที่ผ่านมาการบริหารจัดการน้ำมีหลายหน่วยงานและขาดหน่วยงานที่จะมาควบคุมกำกับโดยตรง ทำให้ขั้นตอนในการสั่งการมีความล่าช้า ซึ่งการย้ายไปยังสำนักนายกฯ จะทำให้สะดวกในการแก้ปัญหาน้ำที่เป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศไทยในขณะนี้.