ปลาไหลญี่ปุ่นวัยอ่อน.
ข้าวหน้าปลาไหล...อาหารโปรดอันดับหนึ่งของชาวญี่ปุ่น แม้ว่าปลาไหลสายพันธุ์ญี่ปุ่นแท้ๆ จะมีราคาสูงถึงกิโลละหลายพันบาท เนื่องจากปริมาณปลาไหลญี่ปุ่นในธรรมชาติลดลงอย่างมาก จนทำให้ไซเตส (CITES) เตรียมกำหนดให้เป็นสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ที่ผ่านมา ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน ได้ร่วมมือกันหาทางอนุรักษ์มาหลายปี แต่เพิ่งจะมาประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงได้เมื่อต้นปีนี้เอง (นักวิจัยญี่ปุ่นเปิดฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาไหลใกล้สูญพันธุ์)
ดร.คม ศิลปาจารย์ เลขาธิการศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) อธิบายว่า ปลาไหลสองน้ำทั่วโลกมีอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ 1.ปลาไหลสายพันธุ์ยุโรป แพร่กระจายในทวีปยุโรป 2.ปลาไหลสายพันธุ์อเมริกัน อยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ 3.ปลาไหลสายพันธุ์ญี่ปุ่น อยู่ในทวีปเอเชีย ตั้งแต่ญี่ปุ่นถึงอินโดนีเซีย และ 4. ปลาไหลสายพันธุ์อินโดนีเซีย อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
...
“สายพันธุ์ยุโรปได้ถูกไซเตสขึ้นบัญชีไว้แล้วเมื่อปลายปีที่แล้ว พร้อมกับมีคำเตือนให้ศึกษาดูแลเพิ่มประชากรปลาไหลญี่ปุ่นในธรรมชาติ ไม่เช่นนั้นจะถูกขึ้นบัญชีไซเตส ทำให้ญี่ปุ่นหันมาให้ทุนสนับสนุนนักวิชาการประมง บรูไน กัมพูชา เมียนมา ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย ตั้งทีมงานขึ้นมาทำโครงการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรปลาไหลสองน้ำ และส่งเสริมการเลี้ยงอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่ปี 2558 เร่งทำการศึกษาอย่างจริงจังมากขึ้น
จนทำให้ทราบว่า ปลาไหลญี่ปุ่น เป็นปลาไหลสองน้ำ มีวงจรชีวิตวัยอ่อนวนเวียนอยู่ทั้งในทะเล เมื่อเติบโตจะขยับเข้ามาอยู่ในแหล่งน้ำจืดทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และญี่ปุ่น ส่วนบ้านเรามีเฉพาะในฝั่งอันดามัน แต่เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ จะไปวางไข่กลางทะเลลึกของประเทศฟิลิปปินส์”
เลขาธิการ SEAFDEC บอกอีกว่า ตัวอ่อนที่ฟักออกมาจากไข่ ที่มีรูปร่างเรียวยาว ลำตัวใส ไม่มีเม็ดสี และล่องลอยอยู่ในทะเลไปตามกระแสน้ำมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเจริญเติบโตเป็นปลาไหลวัยกลาง ตัวยาวสีทองว่ายวนเวียนในท้องทะเล ก่อนจะอพยพกลับเข้าสู่แหล่งน้ำจืดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อหากิน จนเกิดเป็นตัวเต็มวัยสีน้ำตาลเข้ม กลายมาเป็นอาหารอันโอชะของมนุษย์
ส่วนการนำพ่อแม่พันธุ์มาเพาะเลี้ยงและผสมพันธุ์ ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จได้แค่เป็นตัวอ่อน...แต่การเพาะเลี้ยงตัวอ่อนล้มเหลว ได้มาเท่าไรตายหมด เพราะไม่ยอมกินอาหารที่นำมาให้ จนล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพิ่งจะพบว่า เมื่อเอาไข่ปลาฉลามมาทดลองให้กิน ตัวอ่อนสามารถรอดชีวิตและเจริญเติบโตได้ดี
ขณะนี้การศึกษาอยู่ในขั้นเลี้ยงตัวอ่อนให้เป็นตัวสีทอง หรือวัยกลางได้แล้ว ถือเป็นความสำเร็จ และจะต้องศึกษาให้ลึกลงไปอีกว่า ไข่ปลาฉลามพันธุ์ไหนถึงจะเลี้ยงปลาญี่ปุ่นวัยอ่อนได้ดีที่สุด.
ไชยรัตน์ ส้มฉุน