จากเวทีสุนทรียเสวนา “ฟังความรอบด้าน : การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา” ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ตนได้เสนอกับคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาว่าหน่วยงานกลางที่จะดูแลระบบการอุดมศึกษาจะมีกระทรวงหรือไม่มีก็ได้ แต่หากไม่มีกระทรวงการอุดมศึกษา ก็ต้องวางระบบการขับเคลื่อนการอุดมศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ มีองค์กลางเป็นองค์กรที่ส่งเสริมมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศให้ก้าวไปสู่ระดับโลก สามารถบอกได้ว่าใครทำถูกหรือผิด และต้องมีผู้รับผิดชอบ มีผู้รับโทษเมื่อเกิดความเสียหายต่อผู้เรียน

ดร.สุเมธ แย้มนุ่น อดีตเลขาธิการ กกอ. กล่าวว่า ขณะนี้ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะมีการปรับโครงสร้างของการอุดมศึกษา หากไม่ทำให้สำเร็จในช่วงนี้ก็คงไม่มีโอกาสอีกแล้ว แต่เราจะต้องต่อสู้กับระบบที่พยายามเข้ามาควบคุมมหาวิทยาลัยด้วย

ด้าน ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ยอมรับว่ามหาวิทยาลัยต้องปรับตัวตามเทคโนโลยีและโลกที่เปลี่ยนแปลง แต่โจทย์การปรับตัวควรเป็นหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยต่างๆ มากกว่าฝากความไว้วางใจไว้กับ รมว.ศึกษาธิการ สำหรับปัญหาของอุดมศึกษาทั้งหมดที่ผ่านมา เราสามารถแก้ไขได้โดยใช้ พ.ร.บ.การอุดมศึกษาซึ่งได้กำหนดบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบสภามหาวิทยาลัยไว้แล้ว ซึ่งขอย้ำว่าไม่ใช่กระทรวงการอุดมศึกษา

“ผมสนับสนุนเรื่องการมีกฎหมายว่าด้วยการอุดมศึกษา แต่ไม่เห็นเหตุผลที่จะมีปลัดกระทรวงฯ, สำนักงานปลัดกระทรวงฯ และ รมต.กระทรวงฯ มาครอบมหาวิทยาลัยที่มีอิสระมากอยู่แล้ว และไม่เชื่อว่า รมต.คนเดียวจะมีสติปัญญามากไปกว่า สภามหาวิทยาลัยที่รู้เรื่องและใกล้ชิดและอิสระแม้ว่าเราจะมีสภามหาวิทยาลัยบางแห่งที่ล้มเหลว แต่เราก็ไม่ได้ล้มเหลวทั้งหมด ทำไมเราถึงได้พยายามหานายอีกคนมาเพื่อควบคุมสภามหาวิทยาลัย ผมเห็นด้วยกับการมี พ.ร.บ.การอุดมศึกษา แต่คัดค้านอย่างยิ่งกับการตั้งกระทรวงการ อุดมศึกษา การมีรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงมาคุมมหาวิทยาลัย” ศ.ดร.สุรพลกล่าว.

...