ระวัง!...แมงกะพรุนกล่อง พิษรุนแรงถึงตาย
แมงกะพรุน...สัตว์สวยงามแต่กลับมีบางสายพันธุ์กลายเป็นเพชฌฆาตร้ายในท้องทะเล ที่สร้างความหวาดกลัวให้กับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ โดยเฉพาะแมงกะพรุนกล่อง ซึ่งมีพิษรุนแรงที่สุดถึงขั้นปลิดชีวิตคนได้เลยทีเดียว
ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระหว่างปี 2542-2558 ระบุว่า พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากถูกกระเปาะ พิษจากแมงกะพรุนมากกว่า 1,000 ราย และเสียชีวิต 8 ราย ทุกรายเกิดจากแมงกะพรุนกล่อง โดย พื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด คือพื้นที่ ในฝั่งอ่าวไทย เช่น เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่พบการระบาดของแมงกะพรุนกล่อง ทั้งยังพบว่ามีการเสียชีวิตตั้งแต่ปี 2545 ถึงปัจจุบัน 7 ราย โดยมีคนที่ต้องสังเวยชีวิตล่าสุดระหว่างปี 2557-2558 ถึง 3 ราย คือ เกาะพะงัน 2 ราย และเกาะสมุย 1 ราย
ความสูญเสียที่เกิดขึ้น นอกจากจะสร้างความเจ็บปวดให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะตามมาเหมือนเงาตามตัว คือผลกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ที่พบผู้เสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่อง เพราะนักท่องเที่ยวเกิดความวิตกกังวลทำให้ไม่กล้ามาท่องเที่ยว ทั้งยังส่งผลให้ประเทศไทยอาจถูกมองว่ามีมาตรการการดูแลความปลอดภัยไม่ดีพอ
...
และนั่นคือที่มาของการจัดทำแผน “ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุทางทะเลจากแมงกะพรุนพิษ” โดยความร่วมมือกันของโรงพยาบาล เกาะสมุย ตำรวจ ผู้ประกอบการต่างๆ และชุมชน
นางกฤษณา พรหมเกาะ อุปนายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย ในฐานะผู้ประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลเกาะสมุย ขยายภาพการจัดทำแผนนี้ว่า เดิมทีนักท่องเที่ยวมักคิดว่าแมงกะพรุนกล่องจะมีเฉพาะประเทศออสเตรเลีย เพราะเป็นสัตว์ประจำถิ่น ไม่คิดว่าจะพบในไทย แต่เมื่อมีข่าวการเสียชีวิตทำให้เกิดความหวาดวิตก ไม่เชื่อมั่นในการมาท่องเที่ยวในไทย ในพื้นที่จึงร่วมมือกันสร้างความเชื่อมั่น โดยเริ่มจากการสอนสุขศึกษาเกี่ยวกับวิธีการช่วยเหลือผู้ที่ถูกแมงกะพรุน มีการติดป้ายเตือนเมื่อพบแมงกะพรุน ตั้งเสาน้ำส้มสายชูริมหาด และที่สำคัญยังมีการ สร้างความเชื่อมั่นด้วยการติดตั้งตาข่ายกว้าง 320 เมตร โดยชายล่างของตาข่ายจะติดกับพื้นทรายและมีตะกั่วถ่วงอยู่ด้านล่าง มีการตรวจตาข่ายทุก 3-5 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้แมงกะพรุนหลุดเข้ามาและทุก 15 วันต้องนำอวนมาลาก ในตาข่ายเพื่อป้องกันลูกแมงกะพรุนเข้ามาเจริญเติบโตอยู่ในตาข่าย ซึ่งตาข่ายนี้จะขึงระหว่างเดือน ก.ค.-ต.ค. เพราะเป็นช่วงที่แมงกะพรุนระบาด
สำหรับแมงกะพรุนกล่องจะมีลักษณะโปร่งใส รูปร่างเป็นทรงสี่เหลี่ยม มีหนวดยื่นออกมา ในแต่ละมุม และหนวดอาจยาวพอกับความสูงของคน โดยจะสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ชนิดที่มีหนวดเพียงเส้นเดียวในแต่ละมุม และชนิดที่มีหนวดหลายเส้นในแต่ละมุม ซึ่งกลุ่มนี้จะมีหนวด 12-15 เส้น และผู้เสียชีวิตในไทยทุกรายเกิดจากถูกพิษของแมงกะพรุนกล่องชนิดที่มีหนวดหลายเส้น
ซึ่งการเสียชีวิตนั้นเกิดจากการที่เหยื่อ ผู้เคราะห์ร้ายไปสัมผัสถูกกระเปาะพิษซึ่งจะอยู่ที่สายหนวดของแมงกะพรุน โดย แมงกะพรุนกล่องหนึ่งตัวอาจมีกระเปาะพิษถึงหนึ่งล้านถุง ทำให้แมงกะพรุนกล่องจัดเป็นสัตว์ทะเลที่มีพิษร้ายแรงที่สุดของแมงกะพรุนทุกชนิด โดยพิษของแมงกะพรุนกล่องมีฤทธิ์ 3 ด้าน คือ 1.ทำให้เซลล์ผิวหนังตาย 2.มีอาการปวดรุนแรงและ 3.หากได้รับพิษในปริมาณมากและ พิษเข้าสู่กระแสเลือดและเข้าสู่หัวใจ จะทำให้หัวใจหยุดเต้นจนระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ภายใน 2-10 นาที
“หากพบผู้ได้รับพิษจากแมงกะพรุนกล่องต้องราดน้ำส้มสายชูบนแผล 30 วินาทีและรีบนำส่งโรงพยาบาล ห้ามขัดถูด้วยทรายหรืออะไรทั้งสิ้น เพื่อไม่ให้เกิดการสั่นสะเทือน และห้ามนำน้ำจืดมาราด ห้ามประคบน้ำแข็ง แต่หากถูกพิษจำนวนมากจนหมดสติต้องรีบปั๊มหัวใจ ซึ่งบริเวณชายหาด เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จะมีทีมช่วยเหลือผู้ประสบเหตุทางทะเล หรือทีมไลฟ์การ์ดคอยช่วยอยู่แล้ว ซึ่งทีมนี้จัดตั้งขึ้นในปี 2558 และเมื่อปี 2559 สามารถช่วยปั๊มหัวใจและช่วยนักท่องเที่ยวให้รอดชีวิตได้ถึง 2 ราย ทำให้นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจในการมาเที่ยวไทยมากขึ้น” นางกฤษณา เล่าถึงความสำเร็จของแผนช่วยเหลือผู้ประสบเหตุทางทะเลจากแมงกะพรุนพิษโดยเฉพาะแมงกะพรุนกล่อง
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในพื้นที่มีการร่วมมือกันทำงานได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับนโยบายโรงพยาบาลประชารัฐ คือการดึงชุมชนและทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน ซึ่งถือเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะในการป้องกันโรคหรือการพัฒนาท้องถิ่นที่ดี ทุกฝ่ายต้องร่วมกันทำงาน มีส่วนร่วมในการพัฒนา โรงพยาบาลและชุมชนจึงจะสามารถ พัฒนาไปพร้อมกันได้ เหมือนกรณีการจัดทำแผน “ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุทางทะเลจากแมงกะพรุนพิษ” ที่ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ทั้งผู้ประกอบการ ท้องถิ่น ตำรวจและ ชุมชน ซึ่งถือเป็นการทำงานที่มีศักยภาพสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว
ทีมข่าวสาธารณสุข มองว่า การรวมพลัง กันของทุกภาคส่วนในพื้นที่เพื่อสร้างมาตรการช่วยเหลือเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย รวมถึงการเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยด้วยการขึงตาข่ายจัดโซนให้นักท่องเที่ยวสามารถเล่นน้ำทะเลอย่างสบายใจและมั่นใจว่าอยู่ในเขตปลอดแมงกะพรุนกล่อง ตลอดจนสามารถช่วยชีวิต 2 นักท่องเที่ยวผู้เคราะห์ร้ายที่ตกเป็นเหยื่อถูกพิษแมงกะพรุนกล่องจนหมดสติ ให้ฟื้นกลับมาใช้ชีวิตกับครอบครัวอันเป็นที่รักได้อีกครั้ง เปรียบเสมือนบทพิสูจน์ให้นักท่องเที่ยวเชื่อมั่นในศักยภาพ และเชื่อมั่นที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวทะเลไทย
แต่สิ่งหนึ่งที่เราขอฝากคือ มาตรการต่างๆ ทั้งการแก้ไข และป้องกัน ต้องทำอย่าง สม่ำเสมอ เอาจริงเอาจัง และมีความต่อเนื่อง เพราะหากผิดพลาดเกิดมีผู้เคราะห์ร้ายต้องตกเป็นเหยื่อสังเวยชีวิตให้กับแมงกะพรุนกล่องเมื่อใด นั่นหมายถึงแผน “ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุทางทะเลจากแมงกะพรุนพิษ” อาจไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวได้อีกต่อไป
คงน่าเสียดาย หากสิ่งดีๆที่มีการรวมพลังสร้างขึ้นมาต้องจบลงแบบสูญเปล่า.
ทีมข่าวสาธารณสุข