ข้าวหน้าปลาไหล หรืออาหารที่มีปลาไหลเป็นส่วนประกอบ ซึ่งปรุงรสด้วยซอสเปรี้ยวๆหวานๆ ตำรับญี่ปุ่น ถือเป็นเมนูอาหารยอดฮิตทั่วโลก ถ้าได้ลิ้มลองแบบปรุงสุกใหม่ๆร้อนๆ และบรรจุลงกล่องสวยงามตามวัฒนธรรมแดนซามูไรแล้วละก็ ยิ่งเพิ่มความอร่อยเหาะ แม้ว่าสนนราคาจะไม่เบาก็ตาม แต่เมื่อความต้องการบริโภคปลาไหลญี่ปุ่น (Anguilla japonica) หรือ “อูนางิ” (unagi) สูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งทำให้พวกมันตกอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ ทำให้สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติขึ้นบัญชีแดงเมื่อปี 2557

แต่การขาดแคลนปลาไหลญี่ปุ่นอาจจะหมดไปเมื่อ ดร.คัตสึมิ สึคาโมโต ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาไหลจนได้ฉายาว่า “ดร.ปลาไหล” จากมหาวิทยาลัยนิฮง แห่งประเทศญี่ปุ่น เผยว่า เขาปลดปล่อยความลับการเพาะเลี้ยงปลาไหลอย่างยั่งยืนและมีผลกำไรได้แล้ว หลังจากควานหาพื้นที่ให้ปลาไหลวางไข่ ซึ่งจะช่วยในการศึกษาเงื่อนไขที่จำเป็นของการเลี้ยงปลาไหลตั้งแต่ระยะวางไข่ไปจนโตเต็มวัย ทั้งนี้ เมื่อปี 2552 มีการค้นพบว่า ปลาไหลญี่ปุ่นวางไข่ตรงบริเวณร่องน้ำลึก มารินาตะวันตก ใกล้เกาะกวม ทำให้นักวิจัยสามารถ วิเคราะห์เกี่ยวกับการหาอาหารที่ถูกต้องของปลาไหล รวมถึงสภาพแวดล้อมสำหรับการวางไข่ของพวกมัน

ท่ามกลางความสงสัยเกี่ยวกับศักยภาพในการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาไหล แต่ 3 หน่วยปฏิบัติการทดลองของญี่ปุ่นก็สามารถเพาะเลี้ยงปลาไหลจากตั้งแต่เป็นตัวอ่อน กระทั่งเติบโตวางไข่และเกิดลูกปลาตัวใหม่ๆได้ครบวงจรแล้ว อย่างไรก็ตาม ปลาไหลที่ได้มีเพียง 3,000-4,000 ตัวต่อปี เนื่องจากขาดเงินทุนที่จะพัฒนาก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อให้สามารถผลิตปลาไหลเพื่อการค้า ซึ่งต้องได้จำนวนนับหลายหมื่นตัวต่อปี.