ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตนได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำวิจัยเรื่องการสังเคราะห์รูปแบบการจัดการเรียนรู้ชุมชน โดยใช้การวิจัยเป็น ฐานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาจากล่างสู่บน โดยเก็บข้อมูลภาคสนามทุกจังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ร.ร.ที่อยู่รอด เป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดคนมาเรียนได้ จะต้องเป็น ร.ร.ที่มีลักษณะดังนี้ ประการแรก เป็น ร.ร.ที่เปลี่ยนมุมมองจากการปฏิบัติตามนโยบายเป็นจากล่างสู่บน ประการที่สอง มีการกระจายอำนาจในรูปแบบ 60-20-20 คือ อำนาจการบริหารจัดการเป็นของโรงเรียนร้อยละ 60, คณะกรรมการการศึกษาจังหวัด (กศจ.) ร้อยละ 20, อำนาจของกระทรวงศึกษาธิการ ร้อยละ 20 ประการที่สาม เป็น ร.ร.นิติบุคคลและ มี ร.ร.เครือข่าย โดย ร.ร.กลุ่มนี้จะทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับ ร.ร.อื่นและชุมชน เพื่อแลกเปลี่ยนวิธีการคิด งบประมาณ สร้างนวัตกรรม มีงานวิชาการและงานวิจัยรองรับ มีการลงมือปฏิบัติ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และสามารถให้คำตอบเชิงนโยบายได้
ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ มีข้อเสนอให้บริหารจัดการโดยไม่มี กรม มีแต่ปลัดกระทรวง และแบ่งงานโดยรวมกลุ่มงานเป็นคลัสเตอร์ 4-5 กลุ่ม อาทิ กลุ่มที่ทำหน้าที่ดูแลเชิงนโยบาย แผนการศึกษา กฎหมายการศึกษา, กลุ่มงานวิจัย หลักสูตร สร้างนวัตกรรม, กลุ่มงบประมาณ, กลุ่มกำกับติดตามตรวจสอบ โดยทำงานเชิงบูรณาการ ไม่มีแท่งใครแท่งมัน แต่จะทำงานตามเนื้องาน.