ปลัด ทส.ชี้ ประเทศไทยมีขยะมากถึงปีละกว่า 27 ล้านตัน ทส. เดินหน้าแผนจัดการขยะตั้งแต่เริ่มต้น มั่นใจลดปริมาณขยะลงร้อยละ 5 โดยต่อยอดพัฒนาการบริหารจัดการขยะ นำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า ของกลุ่มขยะรีไซเคิลและขยะอินทรีย์...

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 9 ส.ค.2560 ที่ชุมชนบ้านหัวถนน ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะและเศรษฐกิจพอเพียง ต.พระลับ ซึ่งสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ขอนแก่น ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อลดปริมาณขยะตั้งแต่จุดเริ่มต้น โดยมีผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมเป็นสักขีพยานรวมกว่า 300 คน

นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า แผนการจัดการขยะ ซึ่งรัฐบาลและ คสช.ได้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้อย่างชัดเจน โดยที่ในปัจจุบันภาพรวมทั้งประเทศมีขยะเกิดขึ้นมากถึง 27 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยที่ 73,500 ตันต่อคนต่อปี ดังนั้นการร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะตั้งแต่ต้นทางจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ส่งเสริมให้แต่ละชุมชนนั้นสามารถบริหารจัดการได้ตั้งแต่ต้นทาง จึงได้มีการประสานการทำงานร่วมกันกับกระทรวงมหาดไทย ในการจัดทำโครงการจังหวัดสะอาด โดยมีการเลือกพื้นที่ชุมชนเป้าหมายในการจัดการขยะ ซึ่งขอนแก่นเป็นจังหวัดต้นแบบที่ได้มีการคัดเลือก หมู่บ้านหัวถนน ต.พระลับ เป็นพื้นที่ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว เนื่องจากชุมชนแห่งนี้มีการขับเคลื่อนกิจกรรมด้านการจัดการขยะที่ต้นทางอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง และได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทาน กลุ่มชุมชนขนาดใหญ่ ตามโครงการประกวดชุมชนปลอดขยะ หรือ zero west ระดับประเทศเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา

...

“เพื่อให้เกิดการทำงานที่ต่อเนื่อง กระทรวงฯ จึงได้มีการสนับสนุนจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนปลอดขยะที่หมู่บ้านแห่งนี้ ด้วยงบประมาณ 1,000,000 บาท ในการจัดทำเป็นสถานที่ศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะและเศรษฐกิจพอเพียงที่ครบวงจร ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในระดับภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรื่องการจัดการขยะแล้ว ที่หมู่บ้านหัวถนนแห่งนี้ยังคงมีการพัฒนาต่อยอดการบริหารจัดการขยะด้วยการนำขยะมาแปรรูปและเพิ่มมูลค่าของกลุ่มขยะรีไซเคิลและขยะอินทรีย์”

ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวต่ออีกว่า การดำเนินงานว่าด้วยแผนงานจังหวัดสะอาด จะช่วยให้ลดปริมาณขยะของไทยได้มากถึงร้อยละ 5 ซึ่งขณะนี้หลายพื้นที่มีแผนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม และเข้าสู่ขั้นตอนของการต่อยอดเพื่อให้โครงการนั้นเดินทางหน้าต่อไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของการคัดแยกวัสดุรีไซเคิลและขยะอินทรีย์ ที่เริ่มตั้งแต่ระดับครัวเรือน โดยเฉพาะขวดพลาสติกและถุงพลาสติก ที่จะมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบีบอัดและสับย่อย เพื่อลดปริมาตร เพราะเมื่อชุมชนมีการบีบอัดและสับย่อยแล้ว จะเป็นตัวกระตุ้นให้ภาคเอกชนนั้นมารับซื้อได้ง่ายยิ่งขึ้นเพราะวัสดุรีไซเคิลจากหมู่บ้านยังโรงงานนั้นมีการบีบอัดและสับเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะลดต้นทุนให้กับภาคเอกชนในการรับซื้อที่ต่ำลง จึงทำให้ราคารับซื้อจากชุมชนนั้นมีราคาที่สูงขึ้นอีกด้วย.