คณะวิทยาศาสตร์ มธ. เปิดตัว 2 นวัตกรรมเพื่อช่วยผู้ประสบภัยพิบัติ ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ร่วมกับสื่อออนไลน์ เพียงทวิตเตอร์แล้วติดแฮชแท็ก ก็จะรู้จุดผู้ประสบภัย ขณะที่โดรนตรวจสอบความเสียหายโบราณสถาน 3 มิติ เพื่อฟื้นฟูหลังน้ำลด..
เมื่อวันที่ 7 ส.ค.60 ที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวนวัตกรรมต้นแบบช่วยเหลือผู้ประสบภัย ได้แก่ “ระบบ Tracking ผู้ประสบภัย” หรือระบบแผนที่แสดงตำแหน่งผู้ประสบภัยแบบเรียลไทม์ และ “โดรนตรวจสอบความเสียหายโบราณสถาน 3 มิติ”
ดร.วนิดา พฤทธิวิทยา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เปิดเผยถึง ระบบ Tracking ผู้ประสบภัย ว่า ระบบดังกล่าวพัฒนาโดยนักศึกษาปี 4 ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ รุ่นที่ 2 โดยทำการวิจัยเรื่อง “แพลตฟอร์มบริการสร้างเว็บไซต์สำหรับแสดงข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์จากเครือข่ายสังคมออนไลน์ (GIS with Crowdsourcing as a Service - GCaaS)” เป็นเครื่องมือช่วยสร้างเว็บไซต์สำหรับบริหารจัดการข้อมูลผู้ประสบภัย ซึ่งใช้เทคนิคด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS-based website) ในการจัดแสดงแผนที่แสดงตำแหน่งผู้ประสบภัยและภาพข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ของพื้นที่ประสบภัย
ขณะเดียวกัน ก็พบว่าจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยปี 2554 มีผู้แจ้งเหตุผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ที่หลากหลาย คณะวิจัยจึงได้นำร่องเลือกเครือข่ายสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ โดยระบบจะทำการประมวลผลจากการส่งข้อความที่มีการติดเครื่องหมายแฮชแท็ก( # Hashtag) ซึ่งจะทำให้ทราบตำแหน่งผู้ประสบภัยแบบเรียลไทม์ หรือทวิตเดียวก็รู้จุดผู้ประสบภัย
...
อย่าไรก็ตาม ผู้ประสบภัยที่สามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียจะสามารถขอรับความช่วยเหลือแบบออนไลน์ โดยระบุเพียงพิกัดที่อยู่ปัจจุบัน และติดแฮชแท็กที่ประกาศใช้งานไว้อย่างทั่วถึง ทีมผู้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยยังสามารถเพิ่มและอัพเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์ ทำให้เว็บไซต์สำหรับบริหารจัดการข้อมูลผู้ประสบภัยสามารถแสดงการร้องขอความช่วยเหลือ และสถานะการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามการติดแฮชแท็กในข้อความใดนั้น น่าจะขึ้นกับการประกาศอย่างเป็นทางการของภาครัฐ เพราะต้องประสานกับทีมกู้ภัย หน่วยพยาบาล และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้ง ข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ โดยหากได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐแล้ว ระบบแผนที่แสดงตำแหน่งผู้ประสบภัยแบบเรียลไทม์นี้ จะสามารถเป็นหนึ่งในนวัตกรรมเทคโนโลยีที่พร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ซึ่งคณะวิทย์ มธ. พร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือการดำเนินกิจกรรมระดับชาติต่างๆ
สำหรับนวัตกรรม “โดรนตรวจสอบความเสียหายโบราณสถาน 3 มิติ” นั้น ดร.พงศกรณ์ วิจิตเวชไพศาล อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เผยว่า ผลจากอุทกภัยน้ำท่วมในภาคต่างๆ ของประเทศ ทำให้โบราณสถานต่างๆ ในหลายพื้นที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย การใช้โดรนตรวจสอบความเสียหายโบราณสถาน 3 มิติ นั้น จะช่วยเก็บข้อมูล ภาพถ่าย โบราณสถานต่างๆ ในแบบสามมิติที่มีความละเอียดสูง ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยให้เราฟื้นฟูโบราณสถานให้กลับมาได้เหมือนเดิมได้.