โมเสสกำลังชูไม้เท้าของเขาบันดาลให้เกิดภัยพิบัติในอียิปต์.
‘จงเอาไม้เท้าของท่านยื่นไปเหนือน้ำของชาวอียิปต์ คือเหนือแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึงและสระทั้งหมดของพวกเขา น้ำจะกลายเป็นเลือด จะมีแต่เลือดทั่วแผ่นดินอียิปต์ แม้แต่ในภาชนะไม้หรือภาชนะหิน’
ส่วนหนึ่งของข้อความจากพระคัมภีร์บทอพยพ 7:19 (Exodus 7:19) พูดถึงภัยพิบัติลำดับแรกสุดที่พระเจ้าบัญชาให้เกิดกับชาวอียิปต์ ด้วยว่าฟาโรห์แห่งไอยคุปต์ไม่ยอมปลดปล่อยทาสชาวอิสราเอลออกไปจากดินแดนของพระองค์ เราทราบกันดีว่านี่คือปฐมบทแห่ง “ภัยพิบัติสิบประการ” (Plagues of Egypt) ที่กำลังจะตามมาด้วยเหตุการณ์ชวนพิศวงอีกมากมาย ซึ่งบางเหตุการณ์ก็อาจจะเป็นเรื่องราวปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ แต่บางเหตุการณ์ก็ชวนให้ปวดเศียรเวียนเกล้าเสียนี่กระไร เมื่อพยายามอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ด้วยหลักของเหตุและผล
คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูนจะพาแฟนานุแฟนไปลองเจาะลึกภัยพิบัติทั้งสิบประการกันดูครับว่าในมุมมองของนักวิชาการแล้วนั้น พวกเขาอธิบายเหตุการณ์เหล่านี้เอาไว้อย่างไร
ก่อนอื่นต้องขอเท้าความคร่าวๆกันสักหน่อยครับว่าภัยพิบัติทั้งสิบประการนั้นประกอบไปด้วยเหตุการณ์ใดบ้าง
เมื่อฟาโรห์แห่งอียิปต์ยืนกรานที่จะยังรั้งทาสชาวอิสราเอลเอาไว้ในแผ่นดินของพระองค์ พระเจ้าจึงมีบัญชาผ่าน โมเสส (Moses) เพื่อแสดงอิทธิฤทธิ์ของพระองค์ให้ฟาโรห์ได้ประจักษ์
ภัยพิบัติแรกก็ดังที่จั่วหัวเรื่องไว้นั่นล่ะครับ เป็นปรากฏการณ์ที่แม่น้ำไนล์กลายเป็นสีเลือด ปลาในแม่น้ำไนล์ตายหมดสิ้นและส่งกลิ่นเน่าเหม็นจนชาวไอยคุปต์ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำไนล์ไม่ได้อีกต่อไป
...
ภัยพิบัติที่สองคือฝูงกบ ตามมาด้วยฝูงตัวริ้นในภัยพิบัติที่สาม และตัวเหลือบในภัยพิบัติที่สี่ ภัยพิบัติที่ห้าคือโรคระบาดที่เกิดขึ้นกับฝูงสัตว์ ส่วนภัยพิบัติที่หกคือฝีหนองที่ระบาดในหมู่ชาวอียิปต์ ภัยพิบัติที่เจ็ดคือลูกเห็บจากฟากฟ้า และภัยพิบัติที่แปดคือฝูงตั๊กแตนที่เข้ามากินพืชพันธุ์ทั้งหลายที่ยังเหลือรอดจากพายุลูกเห็บ ภัยพิบัติที่เก้าเริ่มออกแนวเหนือธรรมชาติเล็กน้อย ด้วยว่าพระเจ้าได้ตรัสแก่โมเสสให้ยื่นมือขึ้นไปบนท้องฟ้า หลังจากนั้น “ความมืด” ก็คืบคลานเข้ามาสู่ชาวอียิปต์ ทว่าดินแดนที่ชาวอิสราเอลอาศัยอยู่นั้นยังคงมีแสงสว่างตามปกติ
แต่ถึงแม้ว่าพระเจ้าจะส่งภัยพิบัติมาถึงเก้าประการแล้ว ฟาโรห์แห่งไอยคุปต์ก็ยังใจแข็ง ไม่ยอมปล่อยทาสชาวอิสราเอลออกไปสักที ดังนั้น ภัยพิบัติประการที่สิบซึ่งเป็นเหตุการณ์สุดท้ายจึงได้เกิดขึ้นก็คือบุตรชายหัวปีทุกคนบนแผ่นดินอียิปต์ต้องตายไป ในที่สุดเมื่อฟาโรห์ประสบกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้ด้วยตัวของพระองค์เอง ก็เลยตัดสินใจปล่อยทาสชาวอิสราเอลออกไปจากแผ่นดินอียิปต์จนได้ครับ
เมื่อลองหันมาจัดหมวดหมู่แบบคร่าวๆของภัยพิบัติทั้งสิบประการก็จะพบว่าบางเหตุการณ์นั้นก็เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ เช่น หายนะจากฝูงตั๊กแตนหรือพายุลูกเห็บ แต่ภัยพิบัติบางประการก็ดู “เกินจริง” ไปไม่น้อย อย่างเรื่องที่โมเสสเรียกความมืดเข้ามาปกคลุมแผ่นดินอียิปต์ หรือการเจาะจงสังหารบุตรชายหัวปีทุกคนในไอยคุปต์ ซึ่งถ้ามองในมุมของวิทยาศาสตร์และความสมเหตุสมผลแล้ว เหตุการณ์เหล่านั้นไม่น่าจะสามารถเกิดขึ้นได้จริงเลยแม้แต่น้อย
แต่ถึงอย่างนั้น ดร.ซีโอนี เซวิต (Dr.Ziony Zevit) ศาสตราจารย์ด้านคัมภีร์ไบเบิลก็ได้อธิบายให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างภัยพิบัติทั้งสิบกับปรากฏการณ์ธรรมชาติเอาไว้ในบทความของเขาอย่างน่าสนใจเลยทีเดียว เราลองมาดูแนวคิดที่ว่านี้กันครับ
ถ้ามองมาจากความเป็นไปได้ในเชิงระบบนิเวศและวิทยาศาสตร์ล้วนๆ ภัยพิบัติหกประการแรก ตั้งแต่แม่น้ำไนล์สีเลือดไปจนถึงฝีหนองนั้นก็ถือว่าเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันอยู่ไม่น้อยเลย เหตุการณ์แรกเริ่มจากฝนที่ตกอย่างหนักบริเวณประเทศเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นต้นสายของแม่น้ำไนล์ได้พัดพาให้ตะกอนดินสีแดงไหลตามแม่น้ำผ่านประเทศอียิปต์ เมื่อน้ำเต็มไปด้วยโคลนสีแดง ปลาในแม่น้ำไนล์ก็อยู่ไม่ได้ ปลาเหล่านี้เริ่มตายและไหลไปอุดตันบ่อน้ำและแหล่งน้ำอันเป็นที่อยู่อาศัยของฝูงกบก่อให้เกิดเชื้อโรคร้ายแรงขึ้น กบจึงอพยพออกมาจากแหล่งที่อยู่ของมันเพื่อหาแหล่งพักพิงใหม่ ก็เลยเข้ามา
รบกวนบ้านเรือนของชาวไอยคุปต์ หายนะจากโรคติดต่อที่มาจากกบได้นำพาฝูงริ้นและตัวเหลือบให้เข้ามามีบทบาท ส่วนวัวที่กินหญ้าอยู่ในพื้นที่นี้ก็พลอยติดโรคร้ายแรงไปด้วย ในที่สุดคนก็ติดโรคและเป็นฝีหนองตามที่ภัยพิบัติลำดับที่หกว่าไว้
สำหรับภัยพิบัติลำดับต่อมาไม่เชื่อมโยงกับหกลำดับแรกอีกต่อไป ในทางภูมิอากาศของอียิปต์โบราณนั้นพายุลูกเห็บสามารถเกิดขึ้นได้ครับ ถึงแม้ว่าจะไม่ค่อยปรากฏให้เห็นบ่อยนักในดินแดนแถบอียิปต์บน (Upper Egypt) ทางตอนใต้ แต่ในดินแดนแถบอียิปต์ล่าง (Lower Egypt) ทางตอนเหนือ ของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลินั้นถือว่าจะมีลูกเห็บตกได้บ่อยเลย ส่วนภัยพิบัติลำดับที่แปดก็ไม่ต่างกับลำดับที่เจ็ดมากนัก เพราะว่า
ฝูงตั๊กแตนที่เข้ามากัดกินพืชผลของชาวไอยคุปต์นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่สิ่งที่นักวิชาการต้องพยายามอธิบายและปวดเศียรเวียนเกล้ากับมันมากหน่อยก็คือภัยพิบัติสองลำดับสุดท้ายนี่ล่ะครับ
นักวิชาการเสนอว่า “ความมืด” ที่โมเสสได้สร้างปาฏิหาริย์ให้เกิดขึ้นเหนือแผ่นดินอียิปต์ ทว่าไม่ปรากฏบริเวณแหล่งอาศัยของชาวอิสราเอลเลยนั้นก็คือ “พายุทราย” จากทางตะวันตกก็คือแถบประเทศลิเบีย ส่วนภัยพิบัติพิศวงประการสุดท้ายก็น่าจะเกี่ยวข้องกับอัตราการเสียชีวิตของเด็กทารกชาวอียิปต์โบราณที่อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีนักวิชาการคนใดหาคำอธิบายที่สมเหตุสมผลเกี่ยวกับภัยพิบัติประการที่สิบได้เลยครับว่าจะสามารถสอดคล้องกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติใดที่สามารถเกิดขึ้นจริงๆได้บ้าง
ไม่ว่าเหตุการณ์ที่ถูกเล่าขานผ่านพระคัมภีร์ไบเบิลเหล่านี้จะเคยเกิดขึ้นจริงหรือไม่ คำถามสำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือ ทำไมชนโบราณผู้ประพันธ์คัมภีร์ถึงเลือกภัยพิบัติทั้งสิบประการนี้มาเสนอในคัมภีร์ นั่นจึงทำให้มีนักวิชาการอีกส่วนหนึ่งเสนอว่า บางทีภัยพิบัติต่างๆอาจจะถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อ “ต่อกร” กับเทพเจ้าของชาวไอยคุปต์ก็เป็นได้ครับ เพราะถ้าอ้างอิงตามพระคัมภีร์บทกันดารวิถี 33:4 (Numbers 33:4) ที่ระบุว่า “ชาวอียิปต์กำลังฝังศพบุตรชายคนแรกทุกคนที่พระยาห์เวห์ได้ทรงประหาร เป็นการแสดงว่าพระยาห์เวห์ทรงตัดสินลงโทษบรรดาเทพเจ้าทั้งหลายของเขา” นั่นสื่อให้เห็นว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นก็คือการที่พระยาห์เวห์ได้ลงโทษเทพเจ้าของชาวไอยคุปต์นั่นเอง และถ้าว่ากันตามข้อสมมติฐานนี้ ภัยพิบัติใดจะถูกเชื่อมโยงกับเทพเจ้าองค์ใดของชาวไอยคุปต์บ้าง เราลองมาดูกันเลยครับ
ภัยพิบัติแรกเกี่ยวข้องกับแม่น้ำไนล์สีเลือด เทพเจ้าที่ถูกลงโทษก็คือบรรดาเทพที่เป็นตัวแทนของแม่น้ำไนล์นั่นเอง อาจจะเป็นคนุม (Khnum) ฮาปี (Hapi) หรือไม่ก็อาจจะเป็นเทพเจ้าโอซิริส (Osiris) ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของเส้นเลือดใหญ่แห่งไอยคุปต์สายนี้
ภัยพิบัติที่สองคือฝูงกบ เทพเจ้าที่เกี่ยวข้องก็คงเป็นเทพีเฮเคต (Heqet) ซึ่งเป็นเทพีที่เกี่ยวข้องกับการคลอดลูก และที่นางเข้ามาเกี่ยวข้องกับภัยพิบัติข้อนี้ก็เพราะว่าเฮเคตเป็นเทพีที่มีเศียรเป็นกบนั่นเอง
ส่วนภัยพิบัติลำดับที่ห้าเกี่ยวข้องกับโรคในปศุสัตว์ทั้งหลายโดยเฉพาะวัว ดังนั้น เทพเจ้าที่ถูกเชื่อมโยงก็คือเทพเจ้าที่มีเศียรเป็นวัว ซึ่งอาจจะหมายถึงเทพีฮาเธอร์ (Hathor) หรืออาจจะเป็นเทพเจ้าในร่างของวัวศักดิ์สิทธิ์อย่างวัวเอพิส (Apis) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าพทาห์ (Ptah) ก็เป็นได้อีกเหมือนกันครับ
ส่วนภัยพิบัติลำดับที่เจ็ดและแปดซึ่งเกี่ยวข้องกับลูกเห็บและฝูงตั๊กแตนที่สร้างความอลหม่านให้กับชาวอียิปต์ก็น่าจะสื่อไปถึงเทพเจ้าเซธ (Seth) ซึ่งเป็นเทพแห่งพายุและความอลหม่าน แต่ก็มีการเสนอกันว่าบางทีอาจจะเป็นเทพเจ้า “มิน” (Min) เพราะมินเป็นเทพเจ้าแห่งสายฟ้าและเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ พระองค์เป็นผู้ดูแลพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ และจากพระคัมภีร์บทอพยพ 9:31-32 (Exodus 9:31-32) ที่บอกเราว่า “ต้นป่านและต้นข้าวบาร์เลย์ถูกทำลายหมด เนื่องจากเวลานั้นข้าวบาร์เลย์กำลังออกรวงและต้นป่านกำลังออกดอก ส่วนข้าวสาลีและข้าวฟ่างไม่เสียหาย เพราะออกรวงช้ากว่า” นักอียิปต์วิทยาทราบดีว่าชาวไอยคุปต์มีงานเฉลิมฉลองซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเทพเจ้ามินในช่วงก่อนจะทำการเก็บเกี่ยว และบางทีพระยาห์เวห์อาจจะกำลังแสดงอำนาจเหนือเทพเจ้ามิน โดยมุ่งทำลายพืชผลทางการเกษตรก็เป็นได้
ส่วนภัยพิบัติลำดับที่เก้าไม่มีอะไรให้ตีความยากเลยครับ เพราะการนำพา “ความมืด” มาสู่ผืนแผ่นดินอียิปต์ก็คือการหยามหน้าสุริยเทพของชาวไอยคุปต์ ทั้งเทพเจ้าอมุน-รา (Amun-Ra) อเตน (Aten) อตุม (Atum) และอาจจะหมายถึงเทพเจ้าฮอรัส (Horus) ด้วย
สุดท้ายภัยพิบัติลำดับที่สิบ การสังหารบุตรชายหัวปีของชาวอียิปต์ก็น่าจะสื่อถึงเทพเจ้าโอซิริสซึ่งเป็นราชันแห่งโลกหลังความตายและเป็นเทพเจ้าผู้อุปถัมภ์ฟาโรห์ในโลกหน้านั่นเอง สำหรับการเชื่อมโยงกับภัยพิบัติลำดับที่สาม สี่และหกนั้น ผู้เขียนขอข้ามไปเพราะนักวิชาการเองก็ยังไม่ทราบว่าจะเชื่อมโยงตัวริ้น ตัวเหลือบ และโรคฝีหนองเข้ากับเทพเจ้าองค์ใดได้เหมือนกันครับ
สำหรับใครที่สงสัยว่าแล้วในเอกสารโบราณของชาวไอยคุปต์เองนั้นมีการบันทึกถึงเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับภัยพิบัติสิบประการที่ปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิลบ้างหรือไม่ คำตอบคือ “มี” ครับ แต่เท่าที่พอจะทราบก็มีแค่ 3 ภัยพิบัติเท่านั้นที่สามารถเชื่อมโยงกลับไปหาพงศาวดารและตำนานที่ชาวไอยคุปต์เองเป็นผู้บันทึกเอาไว้ได้ บันทึกแรกสุดมาจากเอกสารที่มีชื่อว่า “คำตักเตือนของอีพูเวอร์” (The Admonitions of Ipuwer) อายุราว 2,050 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งมีใจความสำคัญประโยคหนึ่งกล่าวว่า “ดูซิ!! แม่น้ำไนล์เป็นสีเลือด ถ้าใครได้ดื่มเข้าไปล่ะก็ จะต้องบ้วนมันทิ้งและหิวกระหายน้ำเป็นแน่” พอจะเดากันได้ใช่ไหมครับว่า บันทึกนี้กล่าวถึงภัยพิบัติแรกสุดนั่นเอง
ส่วนบันทึกชุดที่สองอยู่ในเอกสารที่มีชื่อว่า “คำพยากรณ์ของเนเฟอร์โรฮู” (The Prophecy of Nefer-Rohu) เมื่อประมาณ 2,040 ถึง 1,650 ปีก่อนคริสตกาล บันทึกในคำพยากรณ์นี้สื่อเป็นนัยถึงภัยพิบัติลำดับที่เก้าก็คือ “ความมืด” นั่นเองครับ หนึ่งในข้อความจากคำพยากรณ์กล่าวว่า
“ดวงสุริยาถูกปกคลุมจนมืดมิด มันไม่ฉายแสงออกมาให้ชาวเมืองได้เห็น ไม่มีใครรู้ว่าเวลาเที่ยงวันจะเคลื่อนคล้อยผ่านไปเมื่อใด...ไม่มีใครสามารถแยกแยะเงาของตนเองได้เลย”
ภัยพิบัติประการสุดท้ายที่พอจะสืบกลับไปหาเอกสารโบราณได้ก็คือการสังหารบุตรชายหัวปีทุกคน ในคัมภีร์ “จารึกพีระมิด” (Pyramid Texts) สมัยราชอาณาจักรเก่า และ “จารึกโลงศพ” (Coffin Texts) สมัยราชอาณาจักรกลาง ได้พูดถึงการ “สังหารบุตรคนโต” โดย “บุรุษผู้ซึ่งชื่อของเขาถูกซ่อนเร้น” ซึ่งข้อความในคัมภีร์ระบุเอาไว้ว่า “ข้าคือผู้ที่กำลังจะถูกตัดสินโดย ‘บุรุษผู้ซึ่งชื่อของเขาถูกซ่อนเร้น’ ในค่ำคืนแห่งการสังหารบุตรคนโต” แต่ถึงอย่างนั้น นักอียิปต์วิทยาเสนอว่า คำว่า “บุตรคนโต” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงบุตรของมนุษย์หรอกครับ ทว่าเป็นบุตรของ “เทพเจ้า” และนั่นหมายความว่าคัมภีร์นี้ได้แสดงให้เห็นว่าชาวไอยคุปต์ในยุคราชอาณาจักรเก่าและราชอาณาจักรกลางมีความเชื่อในเชิงนามธรรมเกี่ยวกับการ “สังหารบุตรคนโต” ของเทพเจ้าในยามราตรีอยู่แล้ว
แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนที่จะมายืนยันได้ว่าความเชื่อที่ปรากฏในคัมภีร์และงานวรรณกรรมของชาวไอยคุปต์เหล่านี้จะส่งผลไปถึงภัยพิบัติสิบประการที่ปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิลอยู่มากน้อยเพียงใด.
โดย :ณัฐพล เดชขจร
ทีมงาน นิตยสารต่วย'ตูน