ฝนชุก หยุดตกเมื่อไร อากาศร้อนสลับขึ้นมาทันที สภาพอากาศเช่นนี้เป็นใจให้เชื้อราเจริญเติบโตเข้าไปทำลายพืชได้เป็นอย่างดี อาจส่งผลกระทบต่อการปลูกกุหลาบ กรมวิชาการเกษตรแนะเกษตรกรเจ้าของสวนกุหลาบให้เตรียมรับมือ...โรคใบจุดดำ

เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา ที่สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของกุหลาบ

อาการแสดงเริ่มแรกมักจะพบที่ใบกุหลาบด้านล่างก่อน...ใบจะเริ่มเป็นจุดแผลกลมสีดำ ในหนึ่งใบกุหลาบสามารถพบจุดกลมดำได้หลายแผล ขอบแผลไม่เรียบ กลางแผลมีสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำ และเมื่อสภาพอากาศมีความชื้นสูง แผลจะขยายใหญ่ ทำให้ใบเหลือง แห้งและหลุดร่วง มีผลให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต

และมีการแพร่เชื้อให้ระบาดไปอย่างรวดเร็ว เพราะสปอร์ของเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคใบจุดดำ สามารถจะปลิวไปตามสายลม การชะล้างของน้ำฝน และติดไปกับตัวแมลงที่มาดอมดมกลิ่นกุหลาบ

ดังนั้น เกษตรกรผู้ปลูกกุหลาบควรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความชื้น ลดแหล่งสะสมเชื้อรา ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการระบาดของเชื้อรา

หากเริ่มพบต้นที่เป็นโรค ให้ตัดส่วนที่เป็นโรคและเก็บใบที่ร่วงหล่น ไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อรา

กรณีโรคยังคงระบาด ให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช โพรคลอราซ 45% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 5-7 วัน

นอกจากนี้ ให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงการให้น้ำแบบพ่นฝอย เพราะจะทำให้ใบกุหลาบมีความชื้นสูง หรือกรณีที่จำเป็นต้องให้น้ำแบบพ่นฝอย เกษตรกรควรให้น้ำในตอนเช้า

และเมื่อได้นำอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตรไปใช้กับต้นที่เป็นโรคในแปลงที่มีการระบาด...ควรล้างทำความสะอาดและผึ่งแดดให้แห้งหลังการใช้งานทุกครั้งด้วย.

...

สะ–เล–เต