ผมมีความเชื่อมาตลอดชีวิตของผมว่า การปฏิรูปที่สำคัญที่สุดก็คือ การปฏิรูปการศึกษา...เพราะจะเป็นหัวใจของการปฏิรูปทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านเมืองเรา

ถ้าการปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จก้าวหน้า ทำให้เด็กไทยเติบใหญ่มาเป็นคนไทย ที่เพียบพร้อมไปด้วย ความเก่ง ความดีงาม และการมี สุขภาพที่แข็งแรง แล้วละก็...จะไปปฏิรูปอะไรก็ได้ทั้งหมด

หลายปีก่อนโน้นเราเคยใช้คำว่า ถ้าคนไทยเราเก่ง แข็งแรงและดีงาม หรือเรียกย่อๆว่า “เก่ง...แข็ง...ดี” รับรองประเทศไทยจะไปไกลกว่านี้แยะ

เราจะไม่เป็นรองใครในอาเซียน จะเป็นอันดับต้นๆของเอเชีย และจะอยู่ในภาพที่คนจะระลึกถึงในระดับโลกอย่างแน่นอน

แต่จนแล้วจนรอด การปฏิรูปการศึกษาของเราก็ยังไม่บรรลุทั้ง 3 เป้าหมายที่ว่า โดยเฉพาะในเรื่องความเก่งและความดีงาม ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการโดยตรง

ถามว่าเด็กไทยเก่งขึ้นไหม? ก็ต้องตอบว่าเก่งขึ้นเยอะ แต่เป็นคนเก่งจำนวนน้อยของคนไทยทั้งหมด

ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คุณหมอ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กรุณาบรรยายให้คณะผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ทั้ง 101 แห่ง ที่โรงแรมลายทอง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งว่า

เด็กไทยที่เก่งๆทำคะแนน PISA เกิน 550 คะแนน ซึ่งเป็นอันดับโลกมีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในขณะที่เด็กอ่อนประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ทำได้แค่เฉลี่ย 350 กว่า ทำให้คะแนนเฉลี่ยของเราอยู่ที่ประมาณ 420 ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 500 ของประเทศพัฒนาแล้ว

ท่านบอกด้วยว่า ถ้าเทียบกับเด็กสิงคโปร์ที่ทำได้เฉลี่ย 560 คะแนน แสดงว่าเด็กไทยเรายังตามหลังเด็กสิงคโปร์ โดยเฉลี่ยเกือบ 5 ปีเลยทีเดียว

ฟังแล้วก็ใจหาย!

ที่สำคัญไปกว่านั้น แม้ในประเทศเราเองก็เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมาก ท่านบอกว่าเด็กเก่งที่สุดของไทย กับเด็กอ่อนที่สุดของไทย ห่างกันถึง 200 คะแนน คิดเป็นปีการศึกษาจะออกมาถึง 7 ปีการศึกษา

...

ฟังแล้วก็น่าใจหายในทั้ง 2 เรื่อง

ถ้าจะว่าไปแล้ว เราพูดถึงความเก่งของเด็กไทย และอยากให้เด็กไทยเก่งมานานแล้ว...ครั้งหลังสุดที่ผมได้ยินก็คือปี 2540 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของแผนพัฒนาฉบับที่ 8

20 ปีผ่านไวเหมือนโกหก ปีนี้ปี 2560 แล้ว ปัญหาเด็กเก่งก็ยังแก้ไม่ตก และถ้าฟังจากท่านรัฐมนตรีดูเหมือนจะหนักขึ้นกว่าเดิม

นี่เฉพาะประเด็นเรื่องความเก่งเรื่องเดียวนะครับ ยังมิได้พูดถึงเรื่องความแข็งแรง หรือความดีงามของเด็กไทยกันเลย

เป็นเหตุให้ต้องมีการปฏิรูปกันใหม่ และมีการจัดตั้ง คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ล่าสุด เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีท่านอาจารย์ นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน

พร้อมด้วยกรรมการจากภาครัฐ ภาคเอกชน และนักการศึกษาที่มีชื่อเสียง รวมทั้งสิ้น 25 ราย มีหน้าที่เสนอแนะรัฐบาล เพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาเด็กไทย ทั้งร่างกายและจิตใจ วินัย อารมณ์ สติปัญญา ฯลฯ ถึง 8 ข้อหลักๆ

ถือเป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 261

คณะกรรมการชุดนี้จะมีข้อเสนอแนะใดๆ เพื่อเป็นนโยบายแนวทาง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อรัฐบาลบ้าง คงต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด

แต่ในระหว่างรอข้อเสนอแนะอยู่นั้น กระทรวงศึกษาธิการก็มิได้นิ่งนอนใจ มีการดำเนินในสิ่งที่ควรแก่การดำเนิน เพื่อการปฏิรูปการศึกษาไปแล้วหลายๆประการ

1 ในมาตรการที่ดำเนินการแล้ว และเริ่มเห็นผลบ้างแล้ว เท่าที่รัฐมนตรีศึกษาธิการกรุณาเล่าให้ที่ประชุมฟังก็คือ “การปฏิรูปครู”

“ครู” คือ หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาทั้งหมด แต่ดูเหมือนว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ครูกลับกลายเป็นจุดอ่อนเกือบจะที่สุดของกระบวนการจัดการศึกษาของชาติ

ปัญหาครูมีอะไรบ้าง? กระทรวงศึกษาธิการแก้ไขในเรื่องใดไปแล้วบ้าง? ผมขออนุญาตนำมากราบเรียนท่านผู้อ่านในวันพรุ่งนี้นะครับ.

“ซูม”