“พระฝาง”...พระพุทธรูปศิลป์ล้านนาหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ โดยฝีมือช่างหล่อหลวงยุคล้านนาตอนต้นที่เดินทางมาจากเมืองเชียงรุ้ง สิบสองปันนา เมื่อครั้งสมัยพระเจ้าพรหมมหาราชที่ทรงปกครองเวียงไชยปราการ ราวปีพุทธศักราช 923
ตามประวัติบันทึกไว้ว่าพระเจ้าพรหมมหาราชทรงสร้างเวียงไชยปราการขึ้นบริเวณต้นแม่น้ำกกได้สร้างพระเจดีย์ไว้บนยอดดอยสบฝางขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำกก เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เหลือมาจากวัดพระธาตุจอมกิตติเมืองเชียงแสนและได้หล่อพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานที่พระเจดีย์
ต่อมา...พระองค์ยังให้ช่างหล่อพระพุทธรูปด้วยทองสัมฤทธิ์ขึ้นมาอีกจำนวนมาก เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง เพื่อถวายไว้กับวัดวาอารามต่างๆที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นในเวียงไชยปราการสมัยนั้น เช่น วัดส้มสุก วัดเก้าตื้อ วัดป่าแดง วัดดอกบุญนาค
เพื่อให้ประชาชนของพระองค์ได้กราบไหว้บูชา ในยุคนั้นด้วยเป็นพระพุทธรูปศิลป์ล้านนา ชาวบ้านจึงเรียกว่า “พระฝาง” จนเป็นที่กล่าวขานกันมาถึงปัจจุบัน
พระครูมนูญธรรมทัต เจ้าอาวาสวัดแม่งอน บอกว่า ด้วยความสำคัญของพระฝางที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่โบราณนับพันปี มีความสำคัญยิ่งของเมืองฝาง แม่อายและไชยปราการ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักดีพอ เกรงว่าพระฝางพระพุทธรูปศิลป์เมืองฝางล้านนาจะสูญหายไป
...
“...ได้นำความกราบเรียนพระเถระผู้ใหญ่ เจ้าคณะปกครอง ทั้งฝ่ายสงฆ์ ...ฝ่ายบ้านเมือง เพื่อขออนุญาตจัดสร้างพระฝางองค์ใหญ่ขึ้น ขนาดหน้าตักกว้าง 4 เมตร สูง 6 เมตร ประดิษฐานไว้ที่วัดแม่งอน”
“พระฝางวัดแม่งอน” ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เกิดจากพลังศรัทธาของศิษยานุศิษย์ เหล่าทายก ทายิกา ประชาชนทั่วไป ร่วมกันสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2554 ตรงกับเดือน 6 เหนือ ขึ้น 15 ค่ำ
คำไหว้บูชาพระฝาง...ตั้งนะโม 3 จบ อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุธโธ นะโม
ข้าขอกราบไหว้บูชาพระฝาง องค์พระพุทธะปฏิมา เป็นศรีสง่าในแหล่งหล้า เป็นที่ศรัทธาแห่งปวงชน สัพพะทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย สัพพะเคราะห์ เสนียดจัญไร วิวัญชัยเย สัพพะธะนัง
สัพพะลาภัง ภะวันตุ เม รักขันตุ สุรักขันตุ
ขอให้พบดวงแก้ว ขอให้แคล้วหมู่มาร ขอให้ได้มรรค ผล นิพพาน
อะหัง วันทามิ ทูระโต อะหัง วันทามิ สัพพะโส นิพพานะ ปัจจัยโย โหตุ
ตำนานหน้าหนึ่งกล่าวถึงประวัติพระเจ้าพรหมตอนปฐมวัยเอาไว้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ
“พระเจ้าพรหมกุมาร” เต็มไปด้วยอิทธิ ปาฏิหาริย์ เช่น เมื่อมีพระชันษาได้ 7 ปี ก็สามารถเล่าเรียนวิชาเพลงอาวุธ ตำราพิชัยสงครามจนจบครบถ้วนกระบวนความ เมื่อพระองค์มีพระชันษาได้ 13 ปี ได้ทรงสุบินว่ามีเทพยดามาบอกว่าจะมีช้าง 3 ตัวล่องน้ำโขงมาและให้ไปล้างหน้าที่นั่น...
หากจับช้างตัวแรกได้จะมีอานุภาพปราบได้ทั้ง 4 ทวีป
...ถ้าจับได้ตัวที่ 2 จะมีอานุภาพได้ชมพูทวีป และถ้าจับได้ตัวที่ 3 จะปราบแว่นแคว้นล้านนาได้
รุ่งเช้า จึงพาบริวารไปท่าน้ำ 50 คน ครั้งแรกเห็นงูเหลือมตัวเลื่อมเป็นมันระยับลอยผ่านไปแล้ว 1 ตัว พอตัวที่สองก็เป็นงูอีกเหมือนกัน พอตัวที่ 3 ก็นึกถึงเรื่องในสุบินนั้นคงเป็นงูนี่เอง จึงช่วยกันจับงูเอาไว้ได้
พอเจ้าพรหมกุมารขึ้นขี่ได้งูก็กลับกลายเป็นช้างไปทันที แต่ไม่ยอมขึ้นฝั่ง จนกระทั่งบริวารต้องเอาพานทองคำตีล่อ ช้างจึงยอมขึ้นจากน้ำ และมีการเรียกชื่อว่า “ช้างพานทองคำ”
พระเจ้าพรหมทรงมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความสามารถและโปรดสงครามคุมกำลังออกต่อสู้...ขับไล่พวกขอมจนแตกพ่ายสามารถยึดเมืองโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติคืนมาได้ในปีพุทธศักราช 1479 ขณะที่มีพระชันษาเพียง 16 ปีเท่านั้น เมืองนี้ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองโยนกชัยบุรี
พระองค์นำทัพไปขับไล่ขอมจนถึงเมืองกำแพงเพชร และได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่เมืองอุมงคลเสลาเก่าในปี พ.ศ.1480 เพื่อเป็นเมืองหน้าด่านคอยป้องกันพวกขอมยกทัพกลับมาตีอีก...
และเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่เป็น “เมืองไชยปราการ”...ปัจจุบันก็คืออำเภอไชยปราการ จังหวัด เชียงใหม่
“ศรัทธา” นำมาซึ่ง “ปาฏิหาริย์” เชื่อไม่เชื่ออย่างไร โปรดอย่าได้ลบหลู่ เชิญผู้มีจิตศรัทธาแวะเวียนไปสักการะ “พระฝาง” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองแห่งดินแดนล้านนา.
รัก–ยม.