สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ที่รัก กลับมาพบกับคุณครูลิลลี่ประจำที่ตรงนี้กันอีกครั้งนะคะ ไทยรัฐออนไลน์ครั้งก่อนคุณครูลิลลี่เขียนถึงเรื่องของเพลงดังอย่าง ผู้สาวขาเลาะ ของคุณลำไย ไหทองคำ ("ผู้สาวขาเลาะ" กับความหมายลึกๆ สุดสะเด่า)ให้ได้อ่านกันว่า เพลงนี้หมายถึงอะไร แล้วก็แถมความรู้เกี่ยวกับคำว่า ลำไย ไปอีกเล็กน้อย เท่านั้นล่ะค่ะ เล่นเอาคอเพลงทั้งหลายทักท้วงกันมาใหญ่โตว่าคุณครูลิลลี่ลำเอียง เขียนถึง ผู้สาวขาเลาะ แล้วก็ต้องเขียนถึงอีกเพลงหนึ่งด้วย เพราะเขาดังตีคู่กันมา นั่นก็คือ เพลง คำแพง ของ ศิลปิน แซ็ค ชุมแพ เพราะฉะนั้นในเมื่อไม่อยากตกเป็นจำเลยว่าลำเอียง ไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้ก็ขอทำหน้าที่เป็นคุณครูกึ่งดีเจนักจัดรายการวิทยุ หยิบเอาเพลงคำแพงมาบอกกล่าวเล่าเรื่องกันเสียหน่อยนะคะ

ก่อนอื่นพูดถึงเรื่องเพลงที่มีสำเนียง สำนวนการร้องแบบท้องถิ่นในภาคอีสานทั้งที ก็เอาความรู้เรื่องนี้มาตีแผ่กันเสียหน่อย เพราะเคยมีคนสงสัยถามคุณครูลิลลี่กันมาอยู่เหมือนกันว่าจริง ๆ แล้ว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเรา เรียกว่า อิสาน หรือ อีสาน กันแน่ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ สะกดด้วย สระอี หรือสระอิ กันแน่นั่นแหละค่ะ ว่าแล้วก็มาดูคำตอบกันนะคะ ที่มีคนสงสัยว่า อิสาน หรือ อีสาน คำไหนถูกคำไหนผิดเพราะเวลาไปทานอาหารก็จะเจอป้ายเขียนว่า ร้านอาหารอิสานบ้าง ร้านอาหารอีสานบ้าง สระอี สระอิ ปนเปกันไปเรื่อย เพราะฉะนั้นเรามาเปิดพจนานุกรมให้รู้กันไปข้างหนึ่งเลยดีกว่า คำว่า อิสาน ที่สะกด ด้วยสระอิ

...

ถ้าหาดูในพจนานุกรม เราจะไม่พบคำนี้นะคะ นั่นก็หมายความว่า คำนี้ไม่มีใช้ค่ะ ส่วนคำว่า อีสาน ที่สะกดด้วยสระอี ถ้าเปิดดูในพจนานุกรมจะพบว่า อีสาน มี 2 ความหมาย คือ หมายถึง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสามารถสะกดว่า อีศาน แบบใช้ ศ ศาลา ก็ได้ ส่วนอีกความหมายหนึ่ง คือ พระศิวะ หรือพระรุทระ นั่นเอง มาดูเพิ่มเติมกันนะคะ คำว่า อีสาน เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาสันสกฤตว่า อีศาน สะกดด้วย ศ ศาลา แต่อ่านว่า อี-สา-นะ ในภาษาสันสกฤต อีศาน หรือ ที่อ่านว่า อี-สา-นะ แปลว่า ผู้ปกครอง หมายถึง พระศิวะหรือพระอิศวร แต่ในภาษาไทย อีสานจะหมายถึง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เหตุที่ภาษาไทยนำพระนามของพระศิวะมาเรียกเป็นชื่อทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะตามความเชื่อของอินเดีย ทิศนี้มีพระศิวะเป็นเทพผู้คอยปกปักรักษานั่นเองค่ะ คำว่า อีสาน มักใช้เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของประชาชนที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น อาหารอีสาน วัฒนธรรมอีสาน ดนตรีอีสาน หรือแม้กระทั่งไส้กรอกอีสาน แต่เมื่อใช้ว่า ภาคอีสาน หรือคนอีสาน ถือเป็นคำลำลองนะคะ แบบไม่เป็นทางการ ส่วนถ้าจะใช้อย่างเป็นทางการก็จะใช้ว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือประชาชนที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นั่นเองค่ะ

ทีนี้ก็มาถึง พระเอกของไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้นะคะ นั่นคือ คำว่า คำแพง อันนี้ไม่เกี่ยวกับของถูกของแพงนะคะ คำว่า คำแพง ต้องไปเปิดดูในตำราของภาษาอีสานค่ะ คำว่า คำแพง แปลว่า ผู้ซึ่งเป็นที่รัก หรือแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ ในทีนี้ก็หมายถึง ผู้หญิงที่เป็นที่รักของคนร้องนั่นเอง เราลองมาดูเนื้อเพลงและความหมายกันสักนิดนะคะ หลายคนร้องได้ เรียกว่าร้องตามกันได้สบาย ๆ แต่ความหมายอาจจะสับสน เพราะฉะนั้น จะได้เปล่งร้องกันได้แบบกินใจเข้าถึงอารมณ์ให้เต็มที่มาดูความหมายกันดีกว่าค่ะ

ขอบคุณ Tonmai Music & Studio

เนื้อเพลงท่อนสำคัญที่คุณครูลิลลี่ก็พอจะร้องตามได้เหมือนกัน เขาร้องไว้ว่า

“บ่แม่นหมาวัดและกะบ่ได้ใจนาง หว่านแหลงดางกะดักใจนางไว้บ่ได้
เฮ็ดดีปานได๋ เฮ็ดดีปานได๋ เจ้ากะบ่หัวซา
นั่งฮ้องนอนไห้ย้อนสงสารใจเจ้าของ น้องบ่เคยมองย่างสากกะบ่อยากใกล้
ฮักเจ้าหลาย ฮักเจ้าหลาย ได้ยินบ่”

ซึ่งความหมายแบบวรรคต่อวรรค คุณครูลิลลี่ถามผู้รู้ และอ่านจากหลาย ๆ ที่มาก็ได้ความว่า

“ไม่ใช่หมาวัด และก็ไม่ได้ใจเธอ หว่านแหลงไปก็ดักใจเธอไว้ไม่ได้
ทำดีแค่ไหน เธอก็ไม่สนใจ
นั่งร้องไห้นอนร้องไห้สงสารใจตัวเอง เธอก็ไม่เคยมอง เดินเฉียดก็ไม่อยากเข้าใกล้
รักเธอมาก รักเธอมาก ได้ยินไหม”

เป็นอย่างไรล่ะคะ แปลกันวรรคต่อวรรคกันเลยทีเดียว คราวนี้คงไม่มีใครว่าคุณครูลิลลี่ลำเอียงอีกแล้วนะคะ ลำไยผ่านไป แซ็ค ชุมแพ ก็ผ่านไป ขออนุญาตพักเรื่องเพลงไว้แค่นี้นะคะ แล้วไทยรัฐออนไลน์ครั้งหน้าจะมีอะไร ติดตามกันนะคะ สวัสดีค่ะ

instagram : kru_lilly , facebook : ครูลิลลี่