เปิดข้อสงสัย ทำไมพ่อแม่ยุคใหม่จึงตั้งชื่อให้ลูกอ่านยาก ด้านครูภาษาไทย เผย ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง ชี้ ยุคสมัยเปลี่ยนภาษาเปลี่ยน
เคยสังเกตไหมว่า...วัฒนธรรมการตั้งชื่อของคนไทยเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดและเห็นได้อย่างชัดเจน ต่างจากสมัยรุ่นปู่ย่าตายายที่มักจะเรียกกันง่ายๆ เช่น ยายบุญ, นายมี, สมศรี, สมชาย แต่ชื่อของเด็กรุ่นใหม่กลับอ่านยากขึ้น เป็นคำแปลกๆ ที่เราไม่คุ้นเคย จนบางครั้งเห็นแล้วต้องขอเวลาสะกดชื่อในใจกันสักพัก ส่วนเรื่องความหมายของชื่อ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะคงต้องรบกวนคุณครูสอนวิชาภาษาไทยมานั่งสอนกันเลยทีเดียว
ฟังแล้วหลายคนอาจจะยังไม่เชื่อว่าแค่ชื่อคนทำไมจะอ่านยากอ่านเย็นขนาดนั้น วันนี้เลยขอยกตัวอย่างชื่อของน้องๆ Gen M มาให้ลองอ่านกันสักหน่อย เช่น ภัควลัญชญ์ อ่านว่า พัก-วะ-ลัน (ลักษณะผู้มีโชค), กมลานันท์ อ่านว่า กะ-มะ-ลา-นัน (บัวบาน), ลีฬฆวรรณ อ่านว่า ลีน-คะ-วัน (มีผิวพรรณงาม), พลัฎฐ์ อ่านว่า พะ-ลัด (ตั้งอยู่ในกำลัง ทรงพลัง) เป็นต้น
...
จากการสอบถาม น.ส.สุพิชฌาย์ ศรีคงรักษ์ คุณครูโรงเรียนเบญจมานุสรณ์ จ.จันทบุรี สอนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เปิดเผยว่า ทุกวันนี้มีนักเรียนที่ชื่อออกเสียงยากและเขียนยากจำนวนมาก บางชื่ออ่านออกเสียงเหมือนกัน แต่เขียนต่างกันก็มี โดยเป็นชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้ และในปัจจุบันมีหลักการตั้งชื่อแบบใหม่ด้วยการนำชื่อและนามสกุลเข้าไปในโปรแกรมตั้งชื่อ จากนั้นโปรแกรมจะคำนวณเลขให้ว่าชื่อจะออกมาเป็นเลขอะไร จาก 0-9 ถ้าผู้ปกครองพึงพอใจหรือเห็นว่าเลขไหนเป็นสิริมงคลก็จะใช้ชื่อนั้น จากที่เมื่อก่อนการตั้งชื่อจะวิเคราะห์แค่ วันเดือนปีเกิด ความหมาย และตัวอักษรที่ไม่เป็นกาลกิณี
“ชื่อส่วนใหญ่ที่พบไม่ใช่ชื่อแปลกใหม่เท่าไร แต่แค่เขียนแปลกต่างไปจากเดิม มีการนำ พวก ฌ, ฏ, ฐ มาใช้เพิ่มมากขึ้น หรือที่พบอีกกรณีก็คือ นักเรียนเป็นคนตั้งชื่อตัวเองใหม่ โดยให้เหตุผลว่า ชื่อเดิมมีตัวอักษรเป็นกาลกิณี แต่ตั้งชื่อใหม่ สามารถเลือกตามที่ชอบและนำคำมาประสมกัน ความหมายก็ลงตัว และเป็นสิริมงคล ยกตัวอย่างชื่อ รวินทร์วรกานต์, คิฌเนต อ่านว่า คิด-ชะ-เนด โดยปกติไม่ค่อยพบการนำ ฌ มาเป็นตัวสะกด, ณัฐจิตกานต์ อ่านว่า นัด-จิด-กาน ถ้าแปลตามตัวจะมีความหมายว่า นักปราชญ์ผู้มีจิตใจเป็นที่รัก เพราะส่วนมากจะพบแค่ ณัฐฏกานต์
นอกจากนี้ยังมีชื่อ ณพฤธา อ่านว่า นบ-รึ-ทา ซึ่งหลายคนอาจจะออกเสียงว่า นะ-พรึด-ทา แต่ตัวของนักเรียนบอกว่าอ่านผิด และอีกชื่อคือ เสฎฐวุฒิ อ่านว่า เสด-ถะ-วุด เป็นคำที่ออกเสียงไม่ยาก แต่เขียนยาก หมายถึง มีความเจริญอันดีเลิศ เป็นคำยืมมาจากภาษาบาลี-สันสกฤต โดยส่วนใหญ่จะพบว่าเด็กนักเรียนในเมืองจะมีชื่อเขียนยากกว่าเด็กในต่างจังหวัด และชื่อที่เร่ิมอ่านยากจะพบในเด็กชั้นประถมศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ
น.ส.สุพิชฌาย์ กล่าวต่อว่า หากถามถึงผลกระทบต่อตัวเด็ก ไม่ค่อยมีผลกระทบอะไรมาก มีเพียงการเรียกชื่อผิดเท่านั้น เพื่อนๆ ในห้องก็ไม่มีการล้อชื่อกัน และจากที่ทราบมา ตัวของเด็กเองก็ไม่คิดอยากจะเปลี่ยนชื่อ แต่หากว่ากันตามหลักภาษาไทยแล้ว ทุกวันนี้ชื่อของคนไทยแทบจะไม่มีคำไทยแท้แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นการนำคำภาษาอื่นมาผสม เช่น คำบาลี สันสกฤต ประมาณ 80% ส่วนผลกระทบด้านอื่นๆ อาจจะมีบ้าง เช่น เวลาไปตามสถานที่ต่างๆ แล้วมีการประกาศเรียกชื่อ หากคนประกาศอ่านชื่อไม่ถูกต้องก็อาจทำให้เจ้าของชื่อพลาดคิวได้เพราะไม่รู้ว่าเป็นชื่อตัวเอง
“ภาษาไทยเป็นภาษาที่ไม่หยุดนิ่ง มีการพัฒนาอยู่ตลอด มันก็บ่งบอกถึงยุคสมัยได้ อย่างเด็กบางคนชื่อ สมหมาย หรือ สมหญิง ก็จะรู้ได้เลยว่ารับอิทธิพลมาจากคนรุ่นก่อนเป็นคนตั้งชื่อให้ แต่พอเห็นเด็กที่ชื่ออ่านยากก็จะรู้เลยว่าพอยุคสมัยมันเปลี่ยน ภาษาก็จะเปลี่ยน ส่วนตัวคิดว่าไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงมากกว่า หากถามว่าพอเห็นชื่อแล้วรู้สึกหงุดหงิดไหม ก็อาจจะรู้สึกหงุดหงิดบ้างเวลาสะกดชื่อไม่ถูก แต่ในฐานะที่เราเป็นครูสอนวิชาภาษาไทยจะเรียกชื่อเด็กผิดก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง”.