พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเปิดสะพาน “ทศมราชัน” ทางพิเศษ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ส่วนหนึ่งของโครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องใน 2 โอกาสมหามงคล “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562” และ “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” มีการออกแบบสะพานให้สื่อถึงพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ ส่วนยอดของเสาสะพาน เปรียบเสมือนฝ่าพระหัตถ์ของพระองค์ ภายในประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุ สายเคเบิลเป็นสีเหลือง สื่อถึง วันพระราชสมภพ ประติมากรรม พญานาค สื่อถึงราศีประจำปีพระราชสมภพ ฯลฯ
เมื่อเวลา 17.25 น. วันที่ 14 ธ.ค. พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “สะพานทศมราชัน” ณ สะพานทศมราชัน ทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก เขตยานนาวา กรุงเทพฯ โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ผู้บริหารและข้าราชการ เฝ้าฯรับเสด็จ
ครั้นเสด็จเข้าพลับพลาพิธี พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯถวาย สูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯถวายสูจิบัตรแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ต่อด้วยปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายบัตรอีซี่พาสที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จากนั้นนายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาของการก่อสร้าง “สะพานทศมราชัน” โครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานครด้านตะวันตกจบแล้ว พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกจากพลับพลาพิธีไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายชื่อ “สะพานทศมราชัน” ขณะนั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ จากนั้นเสด็จ เข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก
ต่อมานายรัชนัย เปรมปราคิน ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กราบ บังคมทูลเบิกผู้มีอุปการคุณเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานของที่ระลึกจำนวน 30 ราย เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ เสด็จออกจากพลับพลาพิธีไปทอดพระเนตรนิทรรศการเกี่ยวกับความเป็นมาของการก่อสร้าง “สะพานทศมราชัน” และรูปแบบและแนวคิดในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมของสะพานทศมราชัน โดยมีผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เข้าเฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายชาตรี ตันศิริ รองผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (วิศกรรมและบำรุงรักษา) ทูลเกล้าฯถวายของที่ระลึกแด่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี แล้วเสด็จไปยังห้องประทับรับรอง ทรงลงพระปรมาภิไธยและพระ นามาภิไธยในสมุดที่ระลึก จากนั้นฉายพระบรมฉายา ลักษณ์ ร่วมกับผู้บริหารกระทรวงคมนาคมและผู้บริหารการทางพิเศษแห่งประเทศไทย แล้วประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จฯกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
“สะพานทศมราชัน” กระทรวงคมนาคม ได้พิจารณากำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล 2 โอกาส คือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 และพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ผู้ออกแบบจึงออกแบบสะพานให้สื่อถึงพระองค์ในหลายส่วน ดังนี้ ส่วนยอดของเสาสะพาน เปรียบเสมือนฝ่าพระหัตถ์ของพระองค์ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) ประทานให้แก่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2566 และนำมาประกอบพิธีประดิษฐานบนยอดเสาฝั่งพระนคร เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ปีเดียวกัน ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ บนคานสะพาน จำนวน 4 ตำแหน่ง รวมถึงบนป้ายชื่อสะพานอีก 2 ตำแหน่ง สายเคเบิลเป็นสีเหลือง สื่อถึงวัน พระราชสมภพคือวันจันทร์ ประติมากรรมพญานาค สื่อถึงราศีประจำปีพระราชสมภพ พ.ศ.2495 คือปีมะโรง เสาขึงรั้วสะพานกันกระโดด ออกแบบสื่อให้เป็นต้นรวงผึ้ง ต้นไม้ประจำพระองค์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานชื่อสะพานนี้ว่า “ทศมราชัน” หมายถึง พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 10 ภายหลังการก่อสร้างยังได้มีการประดับไฟเพื่อเพิ่มสีสันให้แก่สะพานทศมราชันอีกด้วย โดยสามารถเปลี่ยนสีไฟไปตามเทศกาลต่างๆ ได้ โดยแต่ละสีมีความหมายดังนี้ สีทอง แสดงถึง การตั้งมั่นในศีลและธรรม สีขาว แสดงถึง ความมีตบะ สีฟ้า แสดงถึง ความอ่อนโยน สีชมพู แสดงถึง การให้การบริจาค และสีส้ม แสดงถึง ความซื่อตรง ไม่เบียดเบียน
ทั้งนี้ สะพานทศมราชัน เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา คู่ขนานสะพานพระราม 9 มีรูปแบบโครงสร้างเป็นสะพานขึง ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) มีความยาวสะพานทั้งหมด 2 กิโลเมตร มีทั้งหมด 8 ช่องจราจร ด้านละ 4 ช่องจราจรไป-กลับ งบประมาณก่อสร้างสะพาน 6,636,192,131.80 บาท โดยสะพานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางด่วนยกระดับ พระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก (ฝั่งตะวันตก) ของกรุงเทพมหานคร ที่มีระยะทางทั้งโครงการ 18.7 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ทางด่วนนี้จะเป็นหนึ่งในเส้นทางสายหลักจากกรุงเทพมหานคร สู่ภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศไทย ปัจจุบัน “สะพานทศมราชัน” ก่อสร้างแล้วเสร็จ คาดพร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2567 ส่วนทางด่วนทั้งโครงการจะก่อสร้างเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการในปี 2568
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่