พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ทางชลมารค ผ่านคลองเปรมประชากร ทรงเปิดสวนสาธารณะ เฉลิมพระเกียรติ “เปรมประชาวนารักษ์” เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสวนอันหมายถึงสวนที่นำความสุขและความเบิกบานใจมาสู่ประชาชน ได้รับการดูแลรักษาด้วยความรัก โดยมีพสกนิกรพร้อมใจสวมเสื้อ เหลืองเฝ้าฯรอรับเสด็จริมสองฝั่งคลอง และร่วมถวายพระพรทรงพระเจริญดังกึกก้อง

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.เวลาประมาณ 16.10 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เมื่อเสด็จฯถึง นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และพนักงานบริษัทฯ เฝ้าทูลละอองธุลี พระบาทรับเสด็จ จากนั้นเสด็จฯไปยังท่าเทียบเรือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ประทับเรือพระที่นั่ง ซึ่งเป็นเรือยนต์ไฟฟ้า เสด็จฯไปยังท่าเทียบเรือ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ “เปรมประชาวนารักษ์” พื้นที่ถนนกำแพงเพชร 6 แนวขนานคลองเปรมประชากร เขตหลักสี่ กทม.เส้นทางเสด็จฯคลองเปรมประชากร ระยะทาง 6 กม.

ทั้งนี้ ตลอดเส้นทางเสด็จฯทางชลมารคเลียบไปตามแนวคลองเปรมประชากร มีพสกนิกรมารอเฝ้าฯรับเสด็จทั้งสองฝั่งคลอง ตามจุดที่กรุงเทพ มหานครจัดไว้ 13 จุด ได้แก่ ฝั่งตะวันตก ประกอบด้วย คอนโดบางซื่อ สำนักงานเขตบางซื่อ สะพานพ่วงทรัพย์-ทางรถไฟสายใต้ เขตบางซื่อ ชุมชนบ่อฝรั่ง ศูนย์ก่อสร้างฯ 6 ชุมชนประชาร่วมใจ 2 ชุมชนประชาร่วมใจ 1 (ตรงข้ามวัดเสมียนนารี) โรงเรียนวัดเทวสุนทร เขตจตุจักร ขณะที่ฝั่งตะวันออก ประกอบด้วย แฟลตตำรวจรถไฟ ชุมชนบ้านพักรถไฟก่อสร้าง ชุมชนตึกแดง 1, 2, 3 เขตบางซื่อ ลานกีฬาชุมชนภักดี และอาคารเบญจจินดา เขตจตุจักร ส่วนใหญ่สวมเสื้อสีเหลืองพาเด็กๆ ลูกหลานเข้ามาจับจองพื้นที่ตั้งแต่ช่วงบ่าย เพื่อจะได้ชมพระบารมีล้นเกล้าทั้งสองพระองค์อย่างใกล้ชิด ซึ่งเมื่อเรือพระที่นั่งเคลื่อนผ่านตามจุดต่างๆ ประชาชนที่รอเฝ้าฯรับเสด็จ ต่างโบกธงตราสัญลักษณ์ ชูพระบรมฉายาลักษณ์ และร่วมถวายพระพรทรงพระเจริญ เสียงดังกึกก้องไปทั้งลำคลอง ขณะที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงหันพระพักตร์มาทรงแย้มพระสรวลและทรงโบกพระหัตถ์ให้พสกนิกรทั้งสองฝั่ง สร้างความปลื้มปีติให้กับผู้มารอเฝ้าฯอย่างหาที่สุดมิได้
ครั้นเสด็จฯถึงท่าเทียบเรือ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ “เปรมประชาวนารักษ์” นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมคณะกรรมการ คณะผู้บริหาร และพนักงานบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เฝ้าฯรับเสด็จ จากนั้นเสด็จฯไปยังห้องประทับรับรอง ทรงลงพระปรมาภิไธย และทรงลงพระนามาภิ ไธย ในสมุดที่ระลึก จากนั้นเสด็จฯไปยังพลับพลาพิธี

ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ ทรงศีล ประธานสงฆ์ถวายศีล จบแล้ว นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทูลเกล้าฯถวายสูจิบัตรแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทูลเกล้าฯถวายสูจิบัตรแด่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บนพื้นที่
ถนนกำแพงเพชร 6 แนวขนานคลองเปรมประชากร

ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ “เปรมประชาวนารักษ์” พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคม สังข์ แตร ดุริยางค์ แล้วเสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก เสร็จแล้ว ประธานกรรมการ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ทูลเกล้าฯถวายเงินแด่ พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ขณะที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทูลเกล้าฯถวายเงินแด่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย จากนั้นประธานกรรมการ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กราบบังคมทูลเบิกผู้ปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนในโครงการพระราชดำริตามพระบรมราโชบาย เข้าเฝ้าฯรับพระราชทานโล่ที่ระลึก

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงปลูกต้นประดู่ป่า ซึ่งเป็นต้นที่เพาะเมล็ดจากต้นประดู่ป่าที่ทรงปลูกต้นที่ 100 ล้าน เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2540 ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ 1 ล้านไร่ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ขณะที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรม ราชินี ทรงปลูกต้นพิกุล

ลำดับต่อมา เสด็จฯ ไปยังอาคารนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “ชลวิถีธีรพัฒน์” ซึ่งหมายถึงการพัฒนาสายน้ำของผู้เป็นปราชญ์แห่งแผ่นดิน ทอดพระเนตรนิทรรศการต่างๆ ประกอบด้วย 1.ห้องชลวัฏวิถี นิทรรศการวัฏจักรของสายน้ำที่มีผลต่อมวลมนุษยชาติ 2.ห้องชลธีร์ราชทรรศน์ นิทรรศการสืบสาน-รักษา-ต่อยอด มุมมองที่กว้างไกลในการพัฒนาแหล่งน้ำของพระราชา 3.ห้องชลวิวัฒน์เพื่อประชา นิทรรศการการพัฒนาสายน้ำเพื่อปวงประชา แล้วเสด็จฯไปทอดพระเนตรนิทรรศการกลางแจ้ง “สายธารพระบารมีจักรีวงศ์” ทอดพระเนตรการแสดงละครเพลงเรื่อง “สายนทีแห่งราชัน เดอะมิวสิคัล” สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ

สำหรับสวนสาธารณะ “เปรมประชาวนารักษ์” สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยความร่วมมือระหว่างบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หน่วยราชการในพระองค์ หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะดำเนินโครงการพระราชดำริตามพระบรมราโชบายด้านการพัฒนาสายน้ำ คูคลอง สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยงานต่างๆร่วมกันพัฒนาคลองเปรมประชากรและดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บนพื้นที่ถนนกำแพงเพชร 6 แนวขนานคลองเปรมประชากร จำนวน 10 ไร่ ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า จัดสร้างเป็นสวนสาธารณะ พร้อมลานกิจกรรม เส้นทางจักรยาน ท่าเรือ และพื้นที่สาธารณประโยชน์ของชุมชน

ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อสวนแห่งนี้ว่า “เปรมประชาวนารักษ์” หมายถึง สวนที่นำความสุขและความเบิกบานใจมาสู่ประชาชน โดยได้รับการดูแลรักษาด้วยความรัก และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์ งานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ไปประดิษฐานที่ป้ายชื่อสวนสาธารณะ ซึ่งภายในสวนสาธารณะ ประกอบด้วย พื้นที่สวนสาธารณะ อาคารนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “ชลวิถีธีรพัฒน์” นิทรรศการกลางแจ้ง “สายธารพระบารมีจักรีวงศ์” และท่าเรือ เพื่อเป็นจุดเชื่อมทางสัญจร โดยมีต้นไทรขนาดใหญ่อยู่กลางพื้นที่สวน ประกอบกับแนวคิดการออกแบบสัญลักษณ์เลข 10 ไทย ในรูปทรงหยดน้ำแห่งพระมหากรุณาธิคุณ นอกจากนี้ ในสวนยังมีพรรณไม้ดั้งเดิมของกรุงเทพ มหานคร พรรณไม้พื้นถิ่น และต้นไม้นานาพันธุ์ปลูกเสริมสภาพสิ่งแวดล้อมของสวนสาธารณะให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่