“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” เสด็จเป็นองค์ประธาน การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม รอบตัดสิน ระดับประเทศ ประจำปี 2567 ณ สุราลัยฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม
“อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กราบทูลถวายรายงานว่า ข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนประชาชนชาวไทย มีความปีติยินดีที่ได้ร่วมกันแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีและสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่น ดังเมื่อวันที่ 22 ก.พ.2567 พระองค์ได้พระราชทานแบบลายผ้าชื่อ “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” อันเป็นที่ประจักษ์ถึงพระปรีชาสามารถในด้านการออกแบบที่ทันสมัย และยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความเป็นไทย พระองค์ได้พระราชทานพระอนุญาตให้กรมการพัฒนาชุมชน จัดประกวดแข่งขันผ้าลายสิริวชิราภรณ์ และงานหัตถกรรม อันเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสืบสานผ้าไทย ซึ่งมีผู้สมัครส่งผลงานเข้าประกวด 8,651 ชิ้นงาน โดยมีผลงานเข้ารอบตัดสินระดับประเทศ ประเภทผ้า 72 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 6 ชิ้น
ด้าน “สยาม ศิริมงคล” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” เป็นผ้าลายพระราชทานที่ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” พระราชทานให้แก่กระทรวงมหาดไทย ณ บ้านคำปุน จ.อุบลราชธานี เพื่อเชิญไปมอบแก่ศิลปินช่างทอผ้าและหัตถกรรมไทยทั่วประเทศ โดยเป็นลายผ้าที่ทรงสร้างสรรค์ออกแบบ เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 6 รอบ 28 ก.ค.2567 มีจำนวน 4 ลาย ได้แก่ ลายวชิรภักดิ์, ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ 2567, ลายหัวใจ และลายดอกรักราษฎร์ภักดี
สำหรับผลการประกวด รางวัล Best of The Best ได้แก่ ประเภทผ้ายกราชสำนัก (ผ้ายกใหญ่) ลายสิริวชิราภรณ์ โดย “พลตรี ชัยยุทธ วชิรวรภักดิ์” พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน (สถาบันสิริกิติ์) จ.อยุธยา, รางวัลพิเศษแม่น้ำหอม ผลิตภัณฑ์สิริวชิราภรณ์ น้ำหอมดั่งดวงหทัย โดย “ปาริชาติ แก้วหนัก” ปาริชาติไหมไทย จ.ลำพูน และรางวัลชนะเลิศ (เหรียญทอง) ผลงานทั้ง 14 ประเภท ประกอบด้วย
ประเภทที่ 1 ผ้าเทคนิคผสมเทคนิคพื้นเมือง ผลงานผ้าไหมเทคนิคผสม ลายสิริวชิราภรณ์ โดย “อดุลย์ มุลละชาติ” กลุ่มไหมสมเด็จ จ.กาฬสินธุ์
ประเภทที่ 2 ผ้าแพรวา ผลงานราชินีแห่งไหม โดย “วิทวัส โสภารักษ์” กลุ่มแพรวาโสภารักษ์ จ.กาฬสินธุ์
ประเภทที่ 3 ผ้าขิด ผลงานขิดอย่างหมี่ (น้อย) โดย “ชญทรรศ วิเศษศรี” กลุ่มแต้มตะกอ จ.อุทัยธานี
ประเภทที่ 4 ผ้าจก/ผ้าตีนจก ผลงานผ้าจกสิริวชิราภรณ์หลอมรวมใจไทยทั่วหล้าด้วยรักและภักดี โดย “จักรวรรดิวัตร ปรีจำรัส” กลุ่มผ้าทอลายมงคลมนตราธิกาญจน์ จ.กาฬสินธุ์
ประเภทที่ 5 ผ้าจากกลุ่มชาติพันธุ์ ผลงานผ้าจกลายสิริวชิราภรณ์ โดย “จีรนันต์ มูลน้ำอ่าง” กลุ่มทอผ้าบ้านน้ำอ่าง จ.อุตรดิตถ์
ประเภทที่ 6 ผ้าเทคนิคสร้างสรรค์ ผลงานผ้าไหมแพรวา โดย “พงษ์ชยุตน์ โพทะนา” ชุมชนภูไทดำ จ.กาฬสินธุ์
ประเภทที่ 7 ผ้าปัก ผลงานผ้าคลุมไหล่ (ผ้าปัก) โดย “สายฝน ปาระมี” ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จ.อยุธยา
ประเภทที่ 8 ผ้าบาติก/ผ้ามัดย้อม/ผ้าเขียนเทียน ผลงานผ้าบาติกลายหงส์ โดย “ฮัสสือเมาะ ดอมะ” กลุ่มยาริง บาติก จ.ปัตตานี
ประเภทที่ 9 ผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ ผลงานผ้าไหมมัดหมี่ลายสิริวชิราภรณ์ กลุ่มไหมทองสุรนารี จ.นครราชสีมา
ประเภทที่ 10 ผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอ ผลงานผ้ามัดหมี่ลายสิริวชิราภรณ์ โดย “อังคาร ไชยมหา” กลุ่ม CHAIMAHA จ.กาฬสินธุ์
ประเภทที่ 11 ผ้ายกเล็ก ผลงานอาชาสิริวชิราภรณ์ โดย “ภณพล คิดสำราญ” กลุ่มทอผ้าหัสดินทร์ จ.สุรินทร์
ประเภทที่ 12 ผ้ายกใหญ่ ผลงานผ้ายกราชสำนัก (ผ้ายกใหญ่) ลายสิริวชิราภรณ์ โดย “พลตรี ชัยยุทธ วชิรวรภักดิ์”
ประเภทที่ 13 ผ้าหมี่ข้อ/หมี่คั่น ผลงานผ้าไหมมัดหมี่คั่นขอเจ้าฟ้าสิริวชิราภรณ์ โดย “เนติพงษ์ กระแสโสม” กลุ่มใหม่มีชัย จ.ชัยภูมิ
ประเภทที่ 14 งานหัตถกรรม ผลงานกระเป๋าย่านลิเภาทรงหมอนลายสิริวชิราภรณ์ โดย “สุกัญญา สมสวาท” กลุ่มจักสานย่านลิเภาบ้านลิเภาจ.นครศรีธรรมราช และผลงานตลับถมทองรูปครึ่งทรงรี ขอบหยักยกสันแปดเหลี่ยมลายวชิรภักดิ์ และลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ 2567 พร้อมกี๋ไม้แกะสลักทรงพญานาค โดย “พลตรี ชัยยุทธ วชิรวรภักดิ์”
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่